ศูนย์ข่าวศรีราชา- นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย เตือนคนไทยใช้จ่ายอย่างประหยัดหลังไม่พบปัจจัยบวกเสริมเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้แม้จะมีการประกาศขึ้นค่าแรง ขณะเงินดิจิทัลกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่เพียงระยะสั้น แนะรัฐควรส่งเสริมเอกชนให้มีขีดความสามารถในการจ้างงานระยะยาวน่าจะดีกว่า
ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ส่งออกเนื้อไก่ไทยรายใหญ่ของไทย ได้วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยหลังเทศกาลสงกรานต์ 2567 ว่าโดยภาพรวมน่าจะมีแต่ทรงกับทรุด เนื่องจากยังไม่พบว่าปัจจัยใดที่จะเข้ามาเสริมให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น
โดยปัจจัยฉุดรั้งสำคัญคือการทยอยย้ายฐานการผลิตจากไทยไปประเทศเพื่อนบ้านของกลุ่มทุนใหญ่อย่างประเทศญี่ปุ่น ที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการจ้างงาน ขณะที่กลุ่มทุนจีนที่ทยอยเข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่หลายจุด ส่วนใหญ่ล้วนแต่นำอุปกรณ์ เครื่องจักร และแรงงาน รวมถึงพนักงานของตนเองเข้ามา
"ข่าวนี้ประเทศไทยน่าจะทบทวนว่าเพราะเหตุผลอะไรจึงทำให้ชาติต่างๆ ที่มาลงทุนอยู่แล้วถึงได้ถอนทุนหนีจากประเทศไทยเราไปซึ่งเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในขณะนี้เท่าที่ทราบจากนักลงทุนคือ เรื่องค่าแรงงานที่สูงขึ้น รวมทั้งเรื่องข้อกฎหมายของไทย โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนในท้องถิ่นต่างๆ ที่มีกฎหมายท้องถิ่นที่และกฎหมายเรื่องแรงงานที่มากมายจนทำให้นักลงทุนแต่ละประเทศกลัวในเรื่องของการลงทุน จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนในเรื่องนี้ด้วย"
ขณะที่การเข้ามาของกลุ่มทุนจีน ดร.ฉวีวรรณ มองว่ารัฐบาลจะต้องมองว่ามีการใช้แรงงานของไทยมากน้อยเพียงใด เพราะจากข้อมูลที่มีคือ กลุ่มทุนจีนเหล่านี้จะนำแรงงานของตนเองเข้ามาทำงาน แต่อย่างไรก็ดี การเข้ามาของกลุ่มทุนจีนน่าจะส่งดีต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจด้านที่พัก
ส่วนการประกาศปรับขึ้นอัตราค่าจ้างรายวันครั้งล่าสุดของรัฐบาลเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นนั้นถือเป็นเรื่องดี แต่รัฐบาลจะต้องจะต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจมีขีดความสามารถในการสร้างรายรับให้เพียงพอกับรายจ่ายที่จะเพิ่มมากขึ้นด้วย จึงจะสามารถอยู่ได้ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง
ส่งออกเนื้อไก่ไทยปี 67 คาดมีปริมาณมากกว่าปีก่อนจากความต้องการที่สูงขึ้น
ดร ฉวีวรรณ ยังเผยอีกว่าแม้ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศจะอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่การส่งเนื้อไก่ของไทยไปต่างประเทศยังไม่ได้รับผลกระทบจากการสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องของการบริโภคที่มีความจำเป็น จึงคาดว่าตัวเลขการสั่งซื้อในปี 67 จะเติบโตได้มากกว่าปี 66 ขณะที่ผุ้ประกอบการยังจะพยายามหาตลาดใหม่ให้เพิ่มมากขึ้น
"ถ้ายังมีการสั่งซื้อมากเหมือนขณะนี้ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีของประเทศไทยของผู้ส่งออกที่จะได้นำเงินตราเข้าประเทศมากขึ้น และจะมีเงินในการมาจ้างแรงงานที่ดียิ่งขึ้นด้วย"
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อหันกลับมามองภาคการผลิตในประเทศกลับเริ่มเห็นสัญญาณการงดคำสั่งซื้อซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลก และปัญหาการสู้รบในหลายประเทศ จึงอยากฝากเตือนคนไทยใช้จ่ายด้วยความระมัดระวัง เพราะขณะนี้ทุกประเทศในโลกกำลังซื้อหดหายไปมาก ขณะที่ประเทศไทยหากมองตามตลาดต่างๆ เริ่มเห็นว่าเงียบแล้ว
ดร.ฉวีวรรณ ยังให้ความเห็นเรื่องการจ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้ประชาชนที่รัฐบาลประกาศว่าจะเริ่มจ่ายได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี หากเกิดขึ้นจริงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น แต่หากรัฐบาลสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถในการผลิตสินค้าแล้วขายได้ทั่วโลก เชื่อว่าน่าจะนำเงินตราเข้าประเทศและสร้างการจ้างงานที่ยาวนานได้มากกว่า
"ตอนนี้ธุรกิจที่เห็นว่าน่าจะพอไปได้คือธุรกิจด้านอาหาร และการท่องเที่ยวที่เริ่มมีต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย แต่หลักๆ คือคนไทยต้องประหยัด รู้จักใช้ รู้จักออม เพราะมันเป็นไปไม่ได้เลยที่การประกาศขึ้นค่าแรงให้สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้ประกอบการไม่มีรายรับเพียงพอจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ วันนี้ผู้ประกอบการเองต้องปรับตัวเพื่อให้รายรับกับรายจ่ายสมดุลกัน" ดร.ฉวีวรรณ กล่าว