อุดรธานี-1 ปีจะทำกันสักครั้ง! ชาวบ้านอำเภอพิบูลรักษ์ จ.อุดรธานี แบ่งพูดหรือแบ่งชิ้นส่วนวัวเป็นกองๆให้เพื่อนบ้านที่ร่วมลงขันนำไปทำอาหารกินกันในครัวเรือนและต้อนรับแขกเหรือในช่วงงานบุญเดือน 4 หรือบุญพระเวส เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน
“หากต้องชำแหละวัวเพื่อทำอาหารกินหรือทำบุญในช่วงนี้ คือบุญเดือนสี่ หรือบุญพระเวส บุญใหญ่ประจำปีที่ชาวไทยอีสานในหมู่บ้านชนบทกระทำสืบเนื่องเป็นประเพณี ผู้นำหรือชาวบ้านจะจัดสรรเนื้อ โดยตัดเป็นชิ้นๆ มากองไว้โดยเรียกว่า "พูด" เท่าจำนวนที่ต้องการ เนื้อ เครื่องใน และกระดูก จะได้รับการแบ่งสรรเท่ากันหมด”
ที่ หมู่บ้านถ่อนนาเพลิน อ.พิบูลย์รักษ์ จ.อุดรธานี การแบ่งพูดยังคงมีให้เห็นและถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมาจนถึงทุกวันนี้ โดยที่บ้านของชาวบ้านหลังหนึ่ง กำลังแบ่งเนื้อวัวออกเป็นกองๆ หรือแบ่งพูดกันอยู่
นางจำนงค์ อุปชัย อายุ 60 ปี ชาวบ้าน บอกว่า ที่เห็นชาวบ้านทำกันอยู่นี้คือการแบ่งพูด โดยนำวัวหรือควายทั้งตัวที่ตายแล้วมาแบ่งชิ้นส่วนต่างๆในสัดส่วนที่เท่ากันทั้งหมด ทั้งส่วนของเนื้อ เครื่องใน และกระดูก สำหรับวัวตัวนี้ชาวบ้านลงขันกันออกเงินซื้อมาในราคา 13,000 บาท เฉลี่ยแล้วเราก็จะแบ่งออกเป็น 13 กอง กองละ 1,000 บาท วิธีการแบ่งเราก็จะหันเนื้อออกเป็นชิ้นๆ โดยใช้สายตากะเอา ในแต่ละกองจะมีทั้งเนื้อ เครื่องใน และกระดูกในสัดส่วนที่เท่าๆกัน
โดยเมื่อชาวบ้านได้เนื้อไปแล้วก็จะเอาไปทำอาหาร เช่น ลาบ ต้ม ประกอบอาหารกินกันในครอบครัว ส่วนหนึ่งก็จะเอาไปทำบุญที่วัดในช่วงบุญเดือนสี่ ตามประเพณีของชาวอีสาน ซึ่งวิธีทำแบบนี้ส่วนใหญ่จะเห็นได้เฉพาะช่วงบุญเดือนสี่ ช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน เท่านั้น
นายวีระพล รักษ์เสมอวงศ์ ชาวบ้าน บอกว่า ช่วงบุญเดือน 4 หรือบุญผะเหวด ชาวอีสานส่วนใหญ่ในทุกหมู่บ้านจะรวมตัวกัน ออกเงินซื้อวัวมาชำแหละ จากนั้นคนชำแหละจะมีการแบ่งสรรปันส่วนของเนื้อวัว ให้เท่าๆกัน โดยนำเนื้อที่ได้ไปทำอาหารกินกันในครอบครัวและทำบุญ ซึ่งคนรู้จักกันทั้งในหมู่บ้านใกล้เคียง ก็จะชักชวนมากินอาหารหรือกินบุญกัน
หากไม่มีเนื้อเอาไว้รับรองแขก ก็จะถือว่าไม่เหมาะสม ซึ่งหลักๆอาหารที่ชาวบ้านจะทำกินกันในครอบครัวและทำบุญ คือ เนื้อวัวและขนมจีน
จากบทความข้อมูลในอินเตอร์เน็ตระบุว่า “พูด”ความหมายในภาษาไทยกลางนั้นจะหมายถึง การเปล่งเสียงออกมาเป็นถ้อยคำเพื่อการสื่อสาร เจรจากัน แต่พูดในภาษาลาวนั้นมีความหมายได้หลายอย่างตามบริบท เช่น แบ่งของเป็นส่วนๆ เพื่อแบ่งปันกัน เรียก พูด เช่น พูดปลา พูดกบ พูดเขียด พูดซิ้น การตกพูดก็ไม่จำเพาะแต่คนที่พูดภาษาลาวเท่านั้น หากแต่รวมไปถึงกลุ่มคนที่พูดภาษาอื่น
เช่น คนเขมร คนขมุ คนกูย คนโส้ อยู่ด้วย คนเหล่านี้มีแบบอย่างการแบ่งปันที่เป็นรูปรอยเดียวกันกับคำว่า "ตกพูด" ของคนลาว และถ้าสังเกตบรรดาชื่อเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ กับถิ่นทำเลที่อยู่อาศัย อาจกล่าวเป็นภาพรวมได้ว่า คือ คนลุ่มน้ำโขง การตกพูดจึงเป็นวัฒนธรรมของผู้คนลุ่มน้ำโขง และบางทีอาจเป็นวัฒนธรรมของคนบ้านนอกก็เป็นได้