อุบลราชธานี - เมื่อถึงฤดูแล้งชาวบ้านใน ต.นาพิน อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นแหล่งสาเกลือ บ่อเกลือสินเธาว์ตามธรรมชาติ จะพากันต้มเกลือแบบโบราณนำออกขาย เพื่อสร้างรายได้จุนเจือครอบครัว
ที่บ้านโนนสำราญ หมู่ 11 ตำบลนาพิน อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแหล่งที่มีบ่อเกลือสินเธาว์ตามธรรมชาติ โดยแหล่งที่เป็นบ่อเกลือไม่สามารถใช้ทำนาปลูกข้าวได้ ดังนั้น ในฤดูแล้งชาวบ้านจะมีอาชีพต้มเกลือขาย โดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงหมู่บ้านในราคากิโลกรัมละเกือบ 20 บาท และมีเวลาทำเกลืออยู่ราว 4 เดือน เมื่อถึงฤดูฝนก็ต้องหยุด
ส่วนขั้นตอนการทำเกลือก็ใช้ภูมิปัญญาแบบชาวบ้าน คือ “การต้มเกลือ” เริ่มจากการกวาดเอาสาเกลือที่มีอยู่ตามผิวดินมากองรวมกัน และตากทิ้งไว้ให้แห้ง ซึ่งขั้นตอนนี้ชาวบ้านเรียกสาเกลือที่ได้คือ ขี้ทา หรือดินเกลือที่อยู่ชั้นใต้ดิน โผล่เป็นสีขาวโพลนขึ้นมาเหนือดิน
จากนั้นก็จะหาบเอาดินเกลือมาเทใส่ลงในรางไม้ที่โรยขี้แกลบไว้ให้เต็ม พร้อมเดินเหยียบย่ำให้ดินแน่น ก่อนนำน้ำมาเทใส่ในรางและใช้ดินเหนียวที่ผสมยางจากต้นยางบงคลุกเคล้า ด้านล่างที่เจาะเป็นรูไว้ก็จะมีน้ำไหลลงไปในภาชนะที่นำมารองไว้ด้านล่างให้เต็ม
จนเวลาผ่านไป 1 คืน ก็นำน้ำที่ได้จากการรองใต้รางนำน้ำไปต้ม เมื่อน้ำระเหยไปหมดก็จะได้เกลือเป็นเม็ดสีขาว ก็นำไปตากแดดไว้อีกระยะหนึ่ง ก็จะได้เกลือสินเธาว์ที่ใช้ปรุงอาหาร ชาวบ้านจะเก็บเกลือไว้ในกระทอเกลือ โดยสานไม้ไผ่เป็นภาชนะ ลักษณะทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 คืบ ยาว 1 ศอกเศษ นำใบตองตึง หรือใบตองชาด รองก้นและข้างกระทอ แล้วนำเกลือที่ได้ใส่อัดให้แน่น ปิดปากกระทอให้เรียบร้อย เก็บไว้กินหรือขายเป็นสินค้า
โดยเกลือสินเธาว์ของบ้านโนนสำราญนี้ จะมีความพิเศษกว่าเกลือที่มาจากแหล่งอื่นคือ จะมีความเค็มไม่มาก เหมาะแก่การนำไปหมักปลาร้า เพราะจะได้รสชาติปลาร้าที่อร่อย รวมทั้งยังนิยมไปหมักผักดองและอื่นๆ ทุกปีเมื่อถึงฤดูทำเกลือจึงมีพ่อค้ามาคอยรับซื้อถึงหมู่บ้านเพื่อนำไปขายต่อ
ทั้งหมดจึงเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านโนนสำราญที่สืบทอดกันมานานเกือบร้อยปี เหมาะต่อการเป็นสินค้า Soft Power ของอำเภอตระการพืชผล แต่ก็น่าเสียดายที่อาชีพนี้เริ่มมีคนทำน้อยลง และแหล่งเกลือส่วนหนึ่งก็ถูกนำไปสร้างเป็นที่อยู่อาศัยตามการขยายตัวของชุมชนด้วย