ฉะเชิงเทรา - ภาคเอกชนเมืองแปดริ้วจี้กรมชลประทานเร่งจัดทำโครงการสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกงในช่วงฤดูน้ำหลาก กักเก็บในอ่างเก็บน้ำหลักของจังหวัดหลังสถานการณ์น้ำในพื้นที่น่าเป็นห่วงจากปริมาณน้ำในแหล่งกักเก็บเกือบทุกแห่งแห้งขอดใกล้ถึงจุดต่ำสุด หวั่นกระทบการใช้น้ำหน้าแล้ง
ภายหลังจากที่สำนักงานชลประทาน จ.ฉะเชิงเทรา ได้เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำหลักหลายแห่งเริ่มอยู่ในภาวะแห้งขอดจนใกล้จุดต่ำสุด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำในพื้นที่ เช่น อ่างเก็บน้ำคลองสียัด ซึ่งอยู่ใน อ.ท่าตะเกียบ ที่มีปริมาณน้ำเหลือเพียง 54.97 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 13.09 จากความจุอ่าง 420 ล้าน ลบ.ม. โดยยังคงเหลือน้ำสำหรับใช้ในการรักษาระบบนิเวศแค่เพียง 14 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น
ขณะที่อ่างเก็บน้ำคลองระบม อ.สนามชัยเขต ปัจจุบันมีน้ำเหลืออยู่ในอ่างจำนวน 11.133 ล้าน ลบ.ม. จากความจุ 55.5 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 20.06 ของความจุเท่านั้น
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่จำนวน 3 อ่าง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต มีน้ำคงเหลืออยู่เพียง 0.467 ล้าน ลบ.ม.ของความจุ 4.2 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 11.12 และอ่างน้ำโจน 2 อ.พนมสารคาม มีความจุ 1.96 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำอยู่ในอ่าง 0.948 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48.36
เช่นเดียวกับที่อ่างเก็บน้ำน้ำโจน 16 ที่อยู่ใน อ.พนมสารคาม ที่มีความจุอ่างที่ 1.97 ล้าน ลบ.ม. แต่ปัจจุบันมีน้ำจำนวน 1.037 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 54.46 ของความจุ ขณะที่ภาพรวมน้ำในอ่างเก็บน้ำของ จ.ฉะเชิงเทรา ทุกแห่งมีน้ำเหลือเพียงร้อยละ 14.18 หรือเหลือน้ำรวมประมาณ 68.591 ล้าน ลบ.ม. จากความจุอ่างรวมกันทุกแห่งที่มีประมาณ 483.63 ล้าน ลบ.ม.
และส่วนใหญ่อ่างเก็บน้ำทุกแห่งเหลือเป็นเพียงน้ำที่จะถูกใช้เพื่อการรักษาระบบนิเวศเท่านั้น จึงไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นได้นั้น
ล่าสุด นายจิตรกร เผด็จศึก ประธานหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ออกมาขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมชลประทาน เร่งหาแนวทางในการจัดทำโครงการสูบกลับน้ำจากแม่น้ำบางปะกงในช่วงฤดูน้ำหลากที่มีปริมาณน้ำจืดไหลทิ้งลงทะเลเป็นจำนวนมาก
เพื่อนำกลับไปกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำหลักของจังหวัดสำหรับใช้ในช่วงฤดูแล้ง ที่ฝนมักไม่ตกบริเวณเหนือเขื่อน ส่วนใหญ่ฝนมักจะตกในบริเวณพื้นที่ใต้เขื่อน
"จึงอยากถามว่าหากเป็นอย่างนี้แล้วเราจะทำอย่างไร และหากไม่เร่งสร้างสถานีสูบน้ำกลับเพื่อนำไปเก็บไว้ เราต้องฝืนธรรมชาติให้ได้แต่หากฝืนไม่ได้จะไม่มีการพัฒนาด้านแหล่งน้ำต้นทุนอีกต่อไป" นายจิตรกร กล่าว
ชลประทานฉะเชิงเทรายันมีแผนผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำพระสะทึง จ.สระแก้ว มาอ่างเก็บน้ำคลองสียัด
ขณะที่ นายธานินทร์ เนื่องทศเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทาน จ.ฉะเชิงเทรา เผยถึงแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่ว่า ปัจจุบันได้มีการเตรียมแผนศึกษาโครงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำพระสะทึง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนและเป็นพื้นที่สูงของ จ.สระแก้ว มาเติมให้อ่างเก็บน้ำคลองสียัด ที่ในแต่ละปีจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำพระสะทึงมากกว่า 280 ล้าน ลบ.ม.
"แต่ความจุอ่างเก็บน้ำพระสะทึง สามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 65 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น จึงทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณท้ายของอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี และตัวเมืองปราจีนบุรี เป็นประจำทุกปี แม้จะมีปริมาณฝนตกลงมาตามปกติ ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมออกแบบเบื้องต้นไว้แล้วเพียงแต่ยังจะต้องมีการศึกษาในเรื่องของ EIA (รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) เนื่องจากจะเป็นงานวางท่อรวมระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตรจากอ่างเก็บน้ำพระสะทึงมาอ่างเก็บน้ำคลองสียัด และจะมีบางช่วงที่ต้องผ่านผืนป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ที่จะมีความยุ่งยากอยู่บ้างในขั้นตอนนี้"
โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษาโครงการความเป็นไปได้ของดังกล่าวประมาณ 3 ปี จากนั้นจึงจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการเตรียมแบบก่อสร้าง และขอใช้พื้นที่ตามขั้นตอนต่างๆ ต่อไป