ลำปาง – โชว์แสงสียิ่งใหญ่ตระการตา..เทศบาลนครลำปางเปิดงานรำลึกประวัติศาสตร์สะพานรัษฎาภิเศก “ขัวสี่โก๊ง-ขัวหลวงรัษฎา 107 ปี” สะพานกลางเมืองรถม้าที่รอดพ้นระเบิดสัมพันธมิตร-ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 จนถึงปัจจุบัน
ริมแม่น้ำวัง ต.หัวเวียง อ.เมืองลำปาง ทั้งสองฝั่ง เต็มไปด้วยพ่อค้าแม่ขายต่างนำสินค้านานาชนิดมาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่น ที่มาเดินเที่ยว-รอชมพิธีเปิดงานรำลึกประวัติศาสตร์สะพานรัษฎาภิเศก “ขัวหลวงรัษฎา 107 ปี” ที่ตกแต่งด้วยไฟประดับ รวมทั้งทำจุดถ่ายรูปให้แต่งชุดย้อนยุคมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันคึกคักตั้งแต่ช่วงเย็น 22 มี.ค.เป็นต้นมา ก่อนที่นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าฯลำปาง จะเป็นประธานเปิดงาน
นายกิตติ จิวะสันติการ รองนายกเทศมนตรีนครลำปาง รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีนครลำปาง กล่าวรายงานถึงความเป็นมาของขัวหลวง หรือ สะพานขาว หรือ สะพานรัษฎาภิเศก ว่า เป็นสะพานข้ามแม่น้ำวัง เจ้าผู้ครองนครเป็นผู้ที่ตั้งชื่อจากพิธีเฉลิมฉลองรัษฎาภิเษก สมัยรัชกาลที่ 5 สะพานรัษฎาเป็นสะพานร่วมสมัยกับยุคอารยธรรมรถไฟมีอายุผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 และรอดพ้นจากการโจมตีทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรมาได้ด้วยการทาสีพรางตา
เดิมเป็นสะพานไม้เสริมเหล็กชำรุดผุพัง จึงมีการก่อสร้างใหม่เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2460 ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของเมืองลำปาง ซึ่งมีชื่อเรียกกันหลายชื่อ เช่น “ขัวสี่โก๊ง”(สะพานสี่โค้ง) “ขัวหลวง” (สะพานใหญ่) และ “ขัวขาว” (สะพานขาว) ถือว่าเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีความคงทนมากกว่าสะพานรุ่นเดียวกันที่ไม่เหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน
นอกจากนี้ตรงหัวของสะพานยังมีสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงความเป็นมาดังนี้ เสาสี่ต้น ที่ตั้งอยู่หัวสะพานฝั่งละสองต้น หมายถึงความมั่นคงแข็งแรง ครุฑสีแดงด้านหน้าของเสาทุกต้น เป็นตราสัญลักษณ์ของแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 6 พวงมาลัยยอดเสาทั้งสี่ด้านของเสา หมายถึง เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ ไก่หลวง หรือ ไก่ขาว ตรงกลางเสา เป็นสัญลักษณ์ประจำนครลำปาง
เทศบาลนครลำปาง ได้จัดงานรำลึกประวัติศาสตร์สะพานรัษฎาภิเศกมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และปีนี้เป็นการฉลองครบรอบ 107 ปี เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สู่การนำทุนทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจังหวัดลำปางมาสร้างรายได้ให้กับชุมชน
อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา วิถีชีวิต วัฒนธรรม ปลุกจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นตระหนักถึงความสำคัญ รู้สึกรัก หวงแหน และเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สะพานรัษฎาภิเศก ให้คงอยู่คู่เมืองลำปางสืบไป ตามนโยบาย “นครลำปาง เมืองที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม”
หลังจากเปิดงานแล้วได้มีการแสดง Illuminate Light & Sound Show ประกอบพลุสุดตระการตา ในชุด “มนต์เสน่ห์แม่น้ำวัง อลังการ 107 ปี ขัวหลวงรัษฎา” ซึ่งจัดแสดงวันละ 2 รอบการแสดง รอบแรก เวลา 19.30 น. รอบที่สอง เวลา 20.30 น. ระหว่างวันที่ 22 – 24 มีนาคม 2567 ณ สะพานรัษฎาภิเศก และ บริเวณถนนเลียบแม่น้ำวัง