xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรนครปฐมเปิดตัว “ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนบ้านคอกช้าง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครปฐม - เกษตรนครปฐมชู “ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนบ้านคอกช้าง” โดดเด่นด้านการผลิตสารชีวภัณฑ์จัดการศัตรูพืชในนาข้าว และแปลงพยากรณ์การระบาดศัตรูพืช

น.ส.ธนนันท์ ศรีสุวะ เกษตรจังหวัดนครปฐม ผลักดันด้านการอารักขาพืช ได้ขับเคลื่อนงานผ่านกลไกศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน หรือ ศจช. ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการป้องกันกำจัดศัตรูพืช การถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีด้านการจัดการศัตรูพืชในพื้นที่ ช่วยแก้ไขปัญหาของเกษตรกรจากการใช้สารเคมีอย่างรุนแรง ที่ทำให้เกิดปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

การดำเนินงาน เน้นพัฒนาให้กลุ่มเกษตรกร สามารถจัดการศัตรูพืชได้ด้วยตนเอง สามารถบริหารจัดการศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการจัดการศัตรูพืช และพึ่งพาตนเองได้ เป็นศูนย์กลางการผลิตขยายศัตรูธรรมชาติ และการถ่ายทอดความรู้แก่ชุมชน โดยเน้นการผลิตสารชีวภัณฑ์ ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อราเมตาไรเซียม และแมลงตัวห้ำ-ตัวเบียน

ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนบ้านคอกช้าง ตำบลแหลมบัว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2556 เป็นระยะเวลายาวนานถึง 11 ปี ปัจจุบันมีคุณลุงสกล ญาติบรรทุง ดำรงตำแหน่งประธานศูนย์ มีสมาชิกทั้งหมด 36 คน ร่วมกันดำเนินการเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดความรู้ และพัฒนาเกษตรกรในชุมชนให้มีความรู้ และจัดทำสารชีวภัณฑ์ใช้เอง มีการสำรวจติดตามสถานการณ์ศัตรูพืช รายงานการเตือนภัยการระบาดศัตรูพืชในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง เป็นศูนย์รวมในการผลิตศัตรูธรรมชาติ และสารชีวภัณฑ์ด้านการเกษตรของชุมชน

การที่เกษตรกรมีความรู้เรื่องของโรคและแมลงศัตรูพืช จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องและถูกวิธี พร้อมกับการใช้สารชีวภัณฑ์ในการจัดการแปลง ช่วยลดการใช้สารเคมี ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำการเกษตรเป็นอย่างสูง และการได้รับผลผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคพร้อมผลพลอยได้ที่เห็นได้ด้วยตัวเอง คือ สุขภาพเกษตรกร และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

แปลงพยากรณ์การระบาดศัตรูพืช เป็นแปลงที่เอาไว้ติดธงสี แจ้งเตือนการระบาดศัตรูพืชธงสีเขียวหมายถึงสถานการณ์ศัตรูพืชปกติ ธงสีเหลืองหมายถึงสถานการณ์ศัตรูพืช เกษตรกรควรเฝ้าระวัง ธงสีแดงหมายถึง สถานการณ์การระบาดสัตรูพืชรุนแรง

ทั้งนี้ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) เป็นกลุ่มของเกษตรกรเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาศัตรูพืชในพื้นที่ของตนเองและชุมชน โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร (Farmer Field School : FFS) ให้แก่เกษตรกร จะได้นำความรู้ไปจัดการศัตรูพืชด้วยตนเอง ใช้เทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืช รักษาสมดุลของระบบนิเวศทางการเกษตร นำไปสู่ความยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรรม










กำลังโหลดความคิดเห็น