เชียงใหม่ - วิกฤตฝุ่นควันเชียงใหม่ยาวนานต่อเนื่องนับเดือนพ่นพิษ ทำเด็กหญิงวัย 8 ขวบเลือดกำเดาพุ่ง โพรงจมูกอักเสบลามขึ้นหู เชื่อ PM 2.5 เป็นต้นเหตุ ขณะที่คณะแพทย์ มช.เผยยอดผู้ป่วยพุ่งเพิ่มเกินตัวแล้วเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เตือนประชาชนเฝ้าระวังป้องกันตัวเอง
วันนี้ (21 มี.ค. 67) รายงานข่าวว่า ฝนที่ตกลงมาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ช่วง 2 วันก่อนส่งผลทำให้สถานการณ์ฝุ่นควัน ไฟป่า และมลพิษอากาศเบาบางลงระดับหนึ่ง หลังจากที่ตลอดช่วงทั้งเดือนที่ผ่านมาค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐานอยู่ในระดับที่ส่งผลต่อสุขภาพ และฝุ่นควันปกคลุมหนาทึบทั่วทั้งจังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วง 2 วันที่ผ่านมาค่ามลพิษอากาศจะดีขึ้น แต่จากคุณภาพอากาศที่ย่ำแย่มาตลอดส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นจำนวนมาก โดย “น้องข้าวหอม” เด็กหญิงอายุ 8 ขวบ ที่มีบ้านอยู่ในพื้นที่ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งล่าสุดได้มีเลือดกำเดาไหลออกมาจากจมูก หลังจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีอาการผิดปกติคือปวดศีรษะ หายใจลำบากเหมือนเป็นหวัดแต่ไม่มีน้ำมูก และมีไข้ช่วงกลางคืนกับตอนเช้า แต่ตอนกลางวันไข้ลดมีอาการอ่อนเพลีย และเริ่มมีอาการปวดหูเพิ่ม เป็นอย่างนี้วนไปจนเกือบครบ 1 อาทิตย์
ทั้งนี้ ผู้ปกครองจึงได้พาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่คลินิกแพทย์เฉพาะทางด้านเด็กในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเบื้องต้นตรวจวินิจฉัยพบว่าโพรงจมูกอักเสบ และลุกลามส่งผลทำให้หูเริ่มมีอาการอักเสบ โดย แพทย์ได้จ่ายยาฆ่าเชื้อให้รับประทานและกลับไปดูอาการที่บ้านเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หากไม่ดีขึ้นให้รีบพาไปโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ผ่านไปเพียงคืนเดียว ปรากฏว่าในเช้าวันรุ่งขึ้น “น้องข้าวหอม” ได้ตื่นนอนขึ้นมาพร้อมกับมีเลือดกำเดาไหล ซึ่งผู้ปกครองได้ปฐมพยาบาลจนดีขึ้น โดยคาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากอาการป่วยตามที่แพทย์ระบุ รวมทั้งเชื่อด้วยว่าสาเหตุสำคัญยังมาจากวิกฤตฝุ่นควันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดเดือนที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะเป็นช่วงปิดเทอมและเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน พร้อมเปิดเครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศ โดยไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านตามประสาเด็กๆ แต่ก็ยังล้มป่วย
ขณะเดียวกัน ทางด้านคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เผยแพร่สารจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง วิกฤตหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือต่อสุขภาพประชาชน โดยลงชื่อ ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) นายแพทย์ บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า จากสถานการณ์วิกฤตหมอกควันมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM 10) และฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นกับจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือมาอย่างยาวนาน โดยขณะนี้เกินค่ามาตรฐานอย่างหนักในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (สถิติวันที่ 1 ม.ค.-15 มี.ค. 2567) ด้วยผลกระทบจาก PM 2.5 แล้วทั้งสิ้นจำนวน 30,339 ราย มากกว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในช่วงเดียวกันของปีก่อน 1 เท่าตัว (สถิติวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2566 จำนวนผู้ป่วย 12,671 คน) ส่วนใหญ่พบมีอาการของโรคภูมิแพ้กำเริบ เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เยื่อบุตาอักเสบ โรคหืด เลือดกำเดาไหล โรคถุงลมโป่งพอง ตามลำดับ
ฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดอาการไอ จาม แสบจมูก หายใจลำบาก เคืองตา คันผิวหนัง และในระยะยาวจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ สมรรถภาพปอดลดลง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง รวมทั้งมีผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ ทารกตายในครรภ์ พัฒนาการหลังคลอดไม่สมบูรณ์
นอกจากนี้ ฝุ่น PM 2.5 ยังเป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรง ทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันของระบบการหายใจและระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย มีผลต่อโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดเฉียบพลัน และโรคถุงลมโป่งพอง โดยอาจทำให้มีอาการเพิ่มขึ้น หรือเกิดการกำเริบเฉียบพลัน ขอให้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิมสังเกตอาการ หากมีอาการเพิ่มขึ้น หรือมีการควบคุมโรคแย่ลง มีอาการกำเริบรุนแรง ขอให้รีบพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินทันที
บุคลากรทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์วิกฤตหมอกควันในภาคเหนือที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงขอให้ประชาชนทุกท่านเฝ้าระวังดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว โดยเริ่มจากตัวท่านเองไม่เผาทั้งในบ้านและในที่โล่งแจ้ง ติดตามระดับฝุ่น PM 2.5 หากระดับฝุ่น PM 2.5 มีค่าเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้ใส่อุปกรณ์หรือหน้ากากป้องกัน PM 2.5 ชนิด N95 โดยให้อยู่นอกอาคารให้สั้นที่สุด ให้ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้านหรือสถานที่ที่ปิดหน้าต่างและประตูอย่างมิดชิด ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM 2.5
ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมดูแลประชาชนในเขตพื้นที่ภาคเหนืออย่างเต็มประสิทธิภาพ