ฝุ่นพิษ PM2.5 ของไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกเป็นประจำทุกปี ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ จ.เชียงใหม่ ถึงขั้นติดอันดับเมืองที่มีค่าฝุ่นพิษ PM2.5 สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก สะท้อนความรุนแรงที่รัฐบาลและทุกภาคส่วนต้องเร่งแก้ไข ทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นควันพิษจากยานยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม การเผาขยะ การเผาวัสดุทางการเกษตร หรือแม้แต่ไฟป่า และหมอกควันข้ามแดน
การขับเคลื่อนของรัฐในช่วงนี้ที่มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นโต้โผดูมีความคืบหน้าไปมาก ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือในการผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาดของรัฐบาล การ “ปิดป่า” ห้ามมิให้บุคคลเข้าไปในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ การติดตามจุดความร้อน การปรับเปลี่ยนยุทธวิธีดับไฟป่า หรือแม้แต่ปรับปรุงระบบแจ้งเตือน และการป้องกันไม่ให้เกิดการเผา
การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยป้องกันไม่ให้เกิดการเผาจากฝีมือมนุษย์นั้นดูจะเป็นประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายพยายามหาแนวทางป้องปรามและปราบปราม ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ครั้งที่ 1/2567 ที่มี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นั่งหัวโต๊ะ มีแนวทางเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 หลายข้อ นอกจากการมุ่งบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ออกประกาศเขตห้ามเผาและเข้มงวดกับผู้ฝ่าฝืน ผู้ลักลอบนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเผาแล้ว ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกข้อหนึ่ง นั่นคือการตัดสิทธิรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ กับเกษตรกรที่ไม่ให้ความร่วมมือปรับเปลี่ยนวิธีเผาไปใช้วิธีอื่น
นับเป็นความกล้าหาญของรัฐที่ระบุบทลงโทษผู้ที่เป็น “ต้นเหตุการเผา” ได้ดี เพียงแต่ยังไม่เห็นในรายละเอียดว่าสิทธิใดบ้างที่ ทส.จะสามารถตัดได้ เพื่อให้ผู้ลงมือเผาหาของป่า เผานาข้าว ไร่ข้าวโพด หรือไร่อ้อยเกิดความตระหนักรู้และเกรงกลัวกฎหมาย การตัดสิทธิประกันราคา การประกันพืชผลทางการเกษตรที่รัฐอุ้มน่าจะสร้างความกังวลได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าสามารถตัดสิทธิการช่วยเหลือจากรัฐในเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น บัตรคนจน บัตรทองรักษาทุกโรค หรือเบี้ยผู้สูงอายุไปตลอดชีพ น่าจะช่วยให้คนกลุ่มนี้ระมัดระวังการใช้ไม้ขีดไฟมากขึ้น (แต่จะไปสร้างปัญหาอื่นตามมาอีกหรือไม่คงต้องชั่งน้ำหนักกันให้ดี)
หากทุกคนยอมรับกฎหมายที่มีความเข้มแข็งและบทลงโทษรุนแรงได้คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเกิดเคสขึ้นมาแล้วมีคนออกหน้าว่าเกินกว่าเหตุบ้าง สงสารคนจนบ้าง หรือแม้แต่จับแพะหรือเปล่า กระแสสังคมจะพากันลืมปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ไปชั่วขณะ และหันมาโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐแทน ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องที่ควรจะเป็น เพราะเท่ากับทำให้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์และไม่สามารถแก้ปัญหา “มือเผา” ได้ อย่างไรก็ตาม รัฐต้องเตรียมการให้รอบคอบ สื่อสารให้ทั่วถึง และเสนอทางออกในการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกที่ไม่ต้องใช้วิธีเผาให้ชาวนาชาวไร่ด้วย เนื่องจากหลายพื้นที่มีข้อจำกัดที่ทำให้ต้องเลือกใช้ไม้ขีดไฟแก้ปัญหาเช่นกัน
ข้อมูลจาก GISTDA เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 พบจุดความร้อนในพม่า 8,650 จุด ขณะที่ไทยพบ 2,213 จุด ปัญหาหมอกควันข้ามแดนจึงเป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้เรื่องการจัดการในประเทศ แม้ภาคเอกชนรายใหญ่ของไทยที่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้ใช้ "ระบบตรวจสอบย้อนกลับ" และไม่รับซื้อข้าวโพดรุกป่าหรือเผาตอซังสำเร็จแล้ว 100% ในประเทศไทย จะนำระบบเดียวกันนี้ไปใช้ใน พม่า สปป.ลาว และเวียดนามเช่นกัน แต่ช่วยลดการเผาลงไปได้เฉพาะในส่วนของแปลงข้าวโพดที่เขารับซื้อเท่านั้น ขณะที่จุด Hot Spot ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้านนั้นอยู่ในพื้นที่ป่าและนาข้าว จึงอาจไม่ได้ช่วยลดการเผาในประเด็นอื่นๆ ลงมากนัก จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเกิดความร่วมมือกันระหว่างรัฐต่อรัฐ เพื่อขยายผลการแก้ไขให้ครอบคลุมทุกกลุ่มปัญหาในระดับภูมิภาค ดังที่รัฐบาลไทยกำลังเจรจากับทุกประเทศอยู่ และทุกๆประเทศล้วนตระหนักดีถึงความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะ “อากาศ”มเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนใช้หายใจร่วมกัน
โดย วายุ นพดล