xs
xsm
sm
md
lg

สระบุรีเตรียมจัดงานแก่งคอยย้อนรอยสงครามโลกครั้งที่ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สระบุรี - อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เตรียมจัดงาน “แก่งคอยย้อนรอยสงครามโลกครั้งที่ 2“ ประจำปี 2567 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 เมษายน 2567 ตามนโยบายรัฐบาล ที่ให้การสนับสนุนการท่องเที่ยว หลังจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ลดลง

วันนี้ (12 มี.ค.) ที่วัดแก่งคอย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี พร้อมด้วยนายธนกฤต อัตถะสัมปุณณะ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี นายสมชาย วรกิจเจริญผล นายกเทศมนตรีเมืองแก่งคอย และนายปิยะพงษ์ บุญส่ง นายอำเภอแก่งคอย และผู้แทนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรี ร่วมกันแถลงข่าว "งานแก่งคอยย้อนรอยสงครามโลกครั้งที่ 2" จังหวัดสระบุรี ประจำปี 2567 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 เมษายน 2567 ตามนโยบายรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีด้านการสนับสนุนการท่องเที่ยว หลังจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย

นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า จังหวัดสระบุรีเป็นจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวมากเป็นลำดับที่ 9 ของประเทศไทย และเป็นลำดับที่ 2 ของภาคกลาง แหล่งท่องเที่ยวของสระบุรีนั้นมีมากมายหลายแบบ ปัจจุบันจังหวัดได้ดำเนินการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในจังหวัด ตามปฏิทินการท่องเที่ยวของจังหวัดสระบุรี

โดยเชื่อมโยงพื้นที่ใกล้เคียง บูรณาการ ภารกิจด้านการท่องเที่ยวร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ผู้ประกอบการในพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้อยู่ในพื้นที่จังหวัดสระบุรีนานยิ่งขึ้น การจัดงานแก่งคอยย้อนรอยสงครามโลกจังหวัดสระบุรี ประจำปี 2567 เป็นอีกหนึ่งงานที่จังหวัดจัดขึ้นเพื่อการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยงานนี้เป็นการร่วมมือกันในหลายส่วนทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และเทศบาลต่างๆ โดยเชิญชวนผู้เข้าร่วมงานแต่งกาย “ย้อนยุคสมัยสงครามโลก” มาถ่ายภาพในบรรยากาศสวยๆรอบบริเวณงาน ร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟมิตรภาพ “คิฮะ 183” จากสถานีรถไฟหัวลำโพง กินอาหารเบนโตะ ชมผาเสด็จ วัดพระบาทน้อย ชมหอมนสิการ กราบหลวงพ่อลา และชมแสง สี เสียง ชม ชิม ชอปทั่วงาน

เมืองแก่งคอยในอดีตเป็นเมืองที่มีความสำคัญ เป็นสถานที่ตั้งของพระราชวังสีทาของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นเมืองที่มีความสงบสุข ซึ่งขณะนั้นเมืองแก่งคอยเป็นเมืองท่าที่สำคัญในการขนส่งสินค้าและผ่านทางแม่น้ำป่าสัก และทางบกโดยรถไฟ นับว่าเมืองแก่งคอยในขณะนั้นเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ จึงมีกำลังทหารทั้งญี่ปุ่น และไทยมาตั้งค่ายเป็นจำนวนมาก จนถึงช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายตรงข้ามได้ทิ้งระเบิดที่แก่งคอย

ส่งผลให้สถานที่ราชการ ตลาด วัด บ้านเรือนประชาชนเสียหาย มีชาวแก่งคอยและญี่ปุ่นเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตได้รวบรวมอัฐิของผู้เสียชีวิตไปไว้ที่อนุสาวรีย์ในวัดแก่งคอย โดยเทศบาลเมืองแก่งคอย และประชาชนชาวแก่งคอยได้ร่วมพิธีรำลึกผู้ประสบภัยทางอากาศในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยจัดงานในวันที่ 2 เมษายนของทุกปีมาถึงปัจจุบัน










กำลังโหลดความคิดเห็น