กาญจนบุรี - ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าฯลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้นิยมเลี้ยงนกรู้ทันเชื้อแบคทีเรียในนกแก้ว หลังหมอล็อต ออกมาเปรยในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ
วันนี้ (12 มี.ค.) นายมานะ เพิ่มพูน ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง สถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญ โดยหนึ่งในนั้นมีการรายงานการระบาดของโรคไข้นกแก้ว โดยโรคนี้อยู่ในระบบเฝ้าระวังแบบ Event base surveillance หรือการเฝ้าระวังเหตุการณ์ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามอย่างใกล้ชิด
โดยนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน กล่าวในที่ประชุมว่า ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่มีรายงานการพบโรคชนิดนี้ในสารบบ แต่เป็นโรคที่ควรมีการสื่อสารความเสี่ยงกรณีพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกแก้ว (Psittacosis) เพิ่มขึ้นในยุโรป มีดังนี้ โรคไข้นกแก้ว (Parrot fever หรือ Psittacosis หรือ Avian chlamydiosis Gram-negative bacteria Clamydia psittaci มักพบในสัตว์ปีกในป่า โดยเฉพาะนกแก้ว นกพิราบ แพร่เชื้อทางการหายใจ หรือถ่ายอุจจาระ
อาการในนก เบื่ออาหาร อ่อนแรง ขนยุ่งฟู มีน้ำมูกน้ำตา ตับโต น้ำหนักลด หายใจลำบาก ไซนัสบวม ท้องเสียร่วมกับอุจจาระสีเขียวอ่อน เคยพบการระบาดในปี 2472 และปี 2473 พบผู้ป่วยประมาณ 800 คนทั่วโลก เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน การถ่ายทอดโรคสู่คน การสูดดม หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือมูลแห้งของนกที่มีเชื้อแบคทีเรีย บางรายอาจติดเชื้อจากการถูกนกกัด หรือจะงอยปากของนกสัมผัสกับปากของมนุษย์
ระยะฟักตัว 5-14 วัน อาการป่วยในคนไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ไอแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และข้ออ่อนเพลีย อ่อนแรง เหงื่อออก ปอดอักเสบ วินิจฉัย ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ภาพถ่ายรังสีทรวงอก และ Sputum RT-PCR, sputum culture รักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะกลุ่ม Tetracycline มาตรการโดยรวมเหมือนไข้หวัดนก (ไข้หวัดนกเป็นเชื้อไวรัส ไข้นกแก้วเป็นเชื้อแบคทีเรีย) ที่กรมอุทยานดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
1.มาตรการประสานความร่วมมือให้ด่านสัตว์สัตว์ป่าประสานกรมปศุสัตว์ในการตรวจคัดกรองโรคในนกนำเข้าตามด่านช่องทางต่างๆ
2.ประชาสัมพันธ์ผู้เลี้ยงนก ผู้ประกอบการ สถานที่เลี้ยงนก เรื่องสุขอนามัยและให้สังเกตอาการและเฝ้าระวัง หากมีอาการ หรือสงสัยให้แจ้งสัตวแพทย์
3.กำชับมาตรการณ์ด้านสุขอนามัยสำหรับผู้เลี้ยงนก และเจ้าหน้าที่ที่ใกลัชิดสัมผัสกับนก หากพบนกมีอาการป่วยหรือมีอาการสงสัย ให้รีบแจ้งสัตวแพทย์ และผู้ใกล้ชิดนกมีอาการป่วยให้พบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยต่อไป และ 4.จัดทำมาตรการ แล้วเวียนในหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
นายมานะ เพิ่มพูน ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า จากข้อมูลข้างต้น นายอนันต์ โพธิ์พันธุ์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ได้มอบหมายให้ตนประสานไปยังนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อขอข้อมูลในการหาแนวทางในการวางมาตรการป้องกัน รวมถึง ลงพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี เพื่อพบประชาชนที่นิยมเลี้ยงนก เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนได้ตระหนักถึงพิษภัยของโรคดังกล่าว ถึงแม้ว่าจะยังไม่พบในประเทศไทย ขอให้ทุกคนอย่าได้ตกอยู่ในความประมาทโดยเด็ดขาด