เชียงราย - ชุมชนท้องถิ่นผนึกเทศบาลฯ-ม.แม่ฟ้าหลวงเดินหน้าฟื้นฟู “เวียงหนองหล่ม : อาณาจักรโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติ” ถูกทุนใหญ่-ตระกูลดังฮุบที่ไม่ยอมคืนจนเป็นเรื่องเป็นคดียืดเยื้อ ยกสถานะเป็นบุคคลทางวัฒนธรรม-ปลุกท่องเที่ยวสายมูร่วมต้าน
"เวียงหนองหล่ม" ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะและเป็นแหล่งชุ่มน้ำเขตติดต่อ ต.จันจว้า ต.จันจว้าใต้ ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน-โยนก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ที่เคยมีเนื้อที่กว่า 20,000 ไร่ ขณะนี้กำลังประสบปัญหาตื้นเขินและถูกบุกรุกครอบครองที่ดิน จนเกิดเป็นกรณีฟ้องร้องระหว่างเทศบาล ต.จันจว้า กับเอกชนหลายราย
บางรายยอมถอยคืนที่ให้เป็นที่สาธารณะกว่า 93 ไร่ แต่หลายรายยังสู้คดีจนยืดเยื้อ หนึ่งในนั้นเป็นคนในตระกูลดัง
นายทนงศักดิ์ ทองแสน นายกเทศมนตรีตำบลจันจว้า เปิดเผยว่า เวียงหนองหล่มมีตำนานและประวัติศาสตร์การเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติ รวมทั้งเป็นสถานที่ทางธรรมชาติมีแหล่งน้ำและต้นอั้นที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์
แต่ที่ผ่านมามีการบุกรุกจนกลายเป็นปัญหาหมักหมม ตั้งแต่ยังมีแนวเขตที่ไม่ชัดเจน จากเดิมที่เคยมีเนื้อที่กว่า 20,000 ไร่ ก็ลดเหลือเพียงประมาณ 15,000 ไร่ และยังมีคดีฟ้องร้องเรื่องที่ดินกับเอกชนอีก 3-4 ราย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องอนุรักษ์เพราะชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มีอาชีพเป็นเกษตรกรกว่า 90% อาศัยแหล่งน้ำ เลี้ยงกระบือหรือควาย ทำประมง ฯลฯ ตนจึงยินดีมากที่มหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมกันฟื้นฟู-ป้องกันการบุกรุกและประกาศอนุรักษ์เป็นครั้งแรก
ว่าที่ ร.ต.ธีรภพ ธนะศรี ปลัดเทศบาลตำบลจันจว้า เปิดเผยว่า เวียงหนองหล่มเป็นทั้งที่เลี้ยงสัตว์ หนองน้ำ ฯลฯ เฉพาะในเขตเทศบาลมีเนื้อที่ 6,103 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา ทั้งหมดเป็นที่หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) และเป็นเขตโบราณสถาน 188 ไร่ 2 งาน 61 ตารางวา ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขินและเกิดคดีฟ้องร้องกันกับภาคเอกชนซึ่งบางรายก็ไม่ใช่คนในพื้นที่ ทำให้เทศบาลได้พยายามส่งเสริมกลุ่มต่างๆ ให้ช่วยกันอนุรักษ์ เช่น กลุ่มปางควาย กลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มอนุรักษ์นก ฯลฯ และพยายามดำเนินโครงการอนุรักษ์ตามจุดต่างๆ ป้องกันการบุกรุกเพิ่มเติม
ล่าสุดเทศบาลฯ ชุมชน ม.แม่ฟ้าหลวง ได้ร่วมกันจัดพิธี "ฟื้นใจเวียงหนองด้วยศรัทธา สืบชะตาป่าต้นอั้น" ณ ปางควายหมู่บ้านป่าสักหลวง ต.จันจว้า ภายในพื้นที่ "เวียงหนองหล่ม" และเปิดป้ายโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประกาศให้เวียงหนองหล่มเป็น "สถานะบุคคลทางวัฒนธรรมเวียงหนองหล่ม" และร่วมกันผูกผ้าบนเสาใจเมืองเวียงหนองเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการอนุรักษ์
รศ.ดร.พลวัฒกล่าวว่า การประกาศสถานะบุคคลทางวัฒนธรรมเวียงหนองหล่มถือเป็นการเริ่มต้นต่อสู้ ซึ่งทำกันทั่วโลก และแม้ในปัจจุบันเวียงหนองหล่มจะมีสภาพเปลี่ยนแปลงไปแต่ก็ยังคงเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม และตำนานที่ยังคงมีชีวิต
ดังนั้น หลังจากนี้จะร่วมกับเทศบาลและชาวบ้านส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเวียงหนองหล่มโดยเฉพาะ "สายมู" เพราะเป็นสถานที่ที่มีตำนาน ประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุต่างๆ ก็เก็บได้มากมาย มีป่าต้นอั้น ซึ่งเป็นต้นไม้คล้ายไม้โกงกางแต่ขึ้นบนน้ำจืด-คนโบราณเชื่อเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์นิยมนำไปประกอบกับเครื่องมงคล ฯลฯ เมื่อมีการท่องเที่ยวก็จะกระตุ้นการอนุรักษ์ทำให้การบุกรุกลดน้อยลง
สำหรับ "เวียงหนองหล่ม" มีตำนานว่าเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติ และในวันเสาร์ เดือน 7 แรม 7 ค่ำ พ.ศ. 1003 หรือ 1,500 ปีมาแล้ว ชาวบ้านได้จับปลาไหลเผือกแล้วนำมาแบ่งกันกินยกเว้นแม่หม้ายคนหนึ่ง ทำให้เมืองล่มสลายกลายเป็นหนองหรือเวียงหนองล่มและมีเพียงแม่หม้ายคนเดียวที่รอดตาย ปัจจุบันยังมีเกาะอยู่กลางน้ำเรียกว่าเกาะแม่หม้ายซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดป่าหมากหน่อซึ่งมีการเก็บโบราณวัตถุต่างๆ ทั้งถ้วยชามรามไห ฯลฯ ไว้มากมาย