เชียงใหม่ - ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือรุกสู้ปัญหาฝุ่นควันไฟป่าเชียงใหม่ต่อเนื่องเพื่อบรรเทาสถานการณ์ เผยเลือกใช้เทคนิคการก่อเมฆและการดัดแปรสภาพอากาศ สามารถดูดซับฝุ่น ลดฝุ่นควันได้ดีเทียบเท่าฝนตก และไม่ส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร
วันนี้ (5 มี.ค. 67) นายรังสรรค์ บุศย์เมือง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ เปิดเผยถึงภารกิจและแผนการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อบรรเทาสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ว่า การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการแก้ปัญหาฝุ่นได้ดำเนินการ 3 วิธี คือ การปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อให้เกิดฝนตกในพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าเพื่อเป็นการเพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่าไม้ ส่งผลให้ลดการเกิดไฟป่า, การปฏิบัติการก่อเมฆและเลี้ยงเมฆ เพื่อดูดซับฝุ่นละอองและระบายฝุ่นออกจากพื้นที่ และการดัดแปลงสภาพอากาศโดยใช้เทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผันด้วยการโปรยน้ำแข็งแห้งหรือน้ำลดอุณหภูมิ เพื่อให้เกิดการระบายของอากาศ เป็นการระบายฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้บินปฏิบัติการทั้งหมด 13 วัน 16 เที่ยวบิน ในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่, สะเมิง, แม่วาง, แม่ออน, แม่แตง, พร้าว, ฮอด, ดอยเต่า และอมก๋อย
ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือเปิดเผยว่า ช่วงนี้ ในวันที่มีความชื้นเหมาะสม คือมีความชื้นในอากาศเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจะใช้วิธีการก่อเมฆเพื่อดูดซับฝุ่น แต่หากความชื้นในอากาศน้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ จะทำการดัดแปลงสภาพอากาศ โดยการเจาะชั้นบรรยากาศให้อากาศสามารถยกตัวและระบายอากาศได้ดีขึ้น โดยเฉพาะช่วงต้นลมของพื้นที่เป้าหมาย หรือพื้นที่ที่มีแนวโน้มเกิดหมอกควัน พื้นที่ตอนบนของจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางการเกษตร ประกอบกับมีพื้นที่ที่ทำการเก็บเกี่ยวยังไม่แล้วเสร็จ เช่น ข้าว กระเทียม ลำไยนอกฤดู มะม่วง ซึ่งพืชผลทางการเกษตรเหล่านี้หากโดนฝนแล้วจะทำให้ได้รับความเสียหาย จึงได้เลือกใช้วิธีที่ไม่ทำให้ฝนตก แต่มีประสิทธิภาพดีเทียบเท่ากับการเกิดฝน