นครพนม - ผลกระทบจากภัยแล้ง หน้าร้อนมาเร็ว ทำน้ำโขงแห้ง น้ำบาดาลก็ไม่มี เกษตรกรโอดครวญต้นข้าวยืนต้นตาย ทั้งนาปีนาปรังขาดทุนยับ เกษตรกรหลายรายหันไปปลูกพืชผลตัวอื่นแทน ทั้งอ้อย แตงโม หรือถั่ว
ที่ จ.นครพนม จากสถานการณ์ปรากฏการณ์เอลนีโญ ร้อนจัด ฝนทิ้งช่วง น้ำในแม่น้ำโขง น้ำแม่น้ำสงครามลดปริมาณอย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่การเกษตร เพาะปลูกข้าวนาปรัง ในพื้นที่ บ้านนาหนองหวาย ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ต้นข้าวเริ่มทยอยใบไหม้และยืนต้นตายเพราะขาดน้ำหล่อเลี้ยง
ประกอบกับในส่วนพื้นที่ท้ายน้ำยังไม่ได้รับน้ำที่ถูกปล่อยส่งลงมาจึงทำให้ต้นข้าวเหี่ยวเฉา เสียหาย หากรวมความเสียหายจากการทำนาของทั้งหมู่บ้าน อำเภอแล้วคาดว่าไม่ต่ำกว่า 100 ไร่
นางทรัพย์ทวี ดีบุดชา อายุ 41 ปี ชาวบ้านนาหนองหวาน หนึ่งในเกษตรกรชาวนาปรัง ซึ่งทำนา 13 ไร่ กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำ บอกว่า ทำนาทุกปี พอได้ข้าวกินถึงไม่มาก แต่ปีนี้ไม่ได้เลย ต้องยอมทิ้งให้เสียหาย ปัญหาใหญ่ก็คือน้ำไม่มี ขนาดน้ำใต้บาดาลก็ไม่มี แห้งแล้งมาก ทำนา 13 ไร่ ปกติเราจะได้ผลผลิต ถึงไม่ได้มากก็ได้ ปีนี้ทิ้งหมดเลย ไม่มีน้ำเลย ระบบน้ำบาดาลใช้ไม่ได้เลย สูบขึ้นมาก็คือหมดเลย ปกติสูบขึ้นมาก็จะมีน้ำในดินซึมอยู่ ปีนี้ไม่มีเลย
“น่าจะเป็นอิทธิพลของแม่น้ำโขง น้ำสงคราม น้ำฝนไม่เพียงพอ เนื่องจากน้ำลดเยอะ น่าจะมีปัญหาน้ำมาเป็นที่หนึ่ง ปกติน้ำนาปรังอยู่ที่ชลประทาน จะขึ้นแค่ครั้งเดียว ปีนี้ใส่น้ำไป 4 ครั้ง ก็ต้องยอมเสี่ยง เนื่องจากเป็นอาชีพของเรา ทำนาปี นาปรัง” นางทรัพย์ทวีกล่าว และว่า
แต่ในปีนี้มีผลกระทบมาก ไม่ได้เลย ค่าใช้จ่ายในการทำนา เช่น ค่าปุ๋ย ค่าแรง ค่าน้ำมัน ค่าใช้จ่ายเยอะ เราทำนาปีไว้กิน และขาย แต่ว่าถ้าทำนาปรัง สามารถที่จะขายแล้วได้เงินก้อนไปใช้หนี้ได้ ปีที่แล้วได้ 75,000 บาท ลงทุนประมาณ 20,000 บาท ปีนี้ลงทุนเท่าเดิม แต่ขาดทุน
ทั้งนี้ สรุปข้อมูลการเพาะปลูกนาปรัง ประจำปี 2566 นั้น มีเกษตรกรทำการปลูกข้าวในพื้นที่ 12 ตำบล อำเภอศรีสงคราม จ.นครพนม รวมแล้วกว่า 19,000 ไร่ จากพื้นที่การทำนาจริงถึง 190,000 ไร่ ซึ่งถือว่าในปีนี้มีการลดปริมาณการทำนาลงมาก เนื่องจากส่วนใหญ่ยังคงหวั่นกับราคาข้าวและปัญหาน้ำทางการเกษตร และเริ่มมีการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชไร่อย่างเช่นถั่ว อ้อย แตงโมแทน