xs
xsm
sm
md
lg

ภัยแล้งมาเร็ว ชาวบ้านหัวโง้งโอด! ขาดน้ำรดหัวไชเท้า ผลผลิตลด เร่งขุดขาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บ้านหัวโง้ง ต.บ้านแฮด อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น แหล่งปลูกหัวไชเท้าแหล่งใหญ่ใน จ.ขอนแก่น กำลังประสบภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ ทำให้ต้นหัวไชเท้าเริ่มใบเหลือง ไม่สมบูรณ์
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ภัยแล้งมาเร็ว เกษตรกรผู้ปลูกหัวไชเท้ารายใหญ่ ใน อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น เดือดร้อนหนัก น้ำในคลองชลประทานแห้งขอดจนเหลือแต่ดอนทราย ส่งผลให้หัวไชเท้าขาดน้ำใบเหลืองแห้ง ผลผลิตลดฮวบ หัวไชเท้ามีขนาดเล็กไม่สมบูรณ์ เกษตรกรต้องเร่งขุดขาย เสียหายขาดทุนหนัก


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรผู้ปลูกหัวไชเท้าบ้านหัวโง้ง ต.บ้านแฮด อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นแหล่งปลูกหัวไชเท้ารายใหญ่ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น กำลังประสบภัยแล้งหนัก ต้องเร่งเก็บหัวไชเท้ามาล้างทำความสะอาดส่งขายให้ลูกค้า หลังจากมีใบเหลืองและกำลังเหี่ยวแห้งตาย ส่วนผลผลิตหัวไชเท้าที่ได้ก็ไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าที่ควร มีลักษณะเล็กกว่าปกติ

สาเหตุมาจากหัวไชเท้าที่ปลูกได้รับปริมาณน้ำน้อยเกินไปจากสภาพอากาศแห้งแล้ง ทำให้แหล่งน้ำที่ใช้ทำการเกษตร โดยเฉพาะน้ำที่ห้วยหนองโง้ง ซึ่งมีต้นน้ำมาจากห้วยภูเหล็ก ที่มีความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรในหลายตำบลของ อ.บ้านแฮด และ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ขณะนี้น้ำได้แห้งขอดลงเหลือแต่ดอนทราย ไม่เหลือน้ำทำการเกษตร แนวทางแก้ปัญหา เบื้องต้นเกษตรกรขุดบ่อขนาดเล็กในลำห้วยเพื่อให้น้ำที่เหลือเพียงน้อยนิดไหลเข้ามาในบ่อ แล้วนำน้ำไปรดต้นหัวไชเท้า ไม่ให้ต้นที่เหลือใบเหลืองแห้งตายไปมากกว่านี้






นางมยุรี สีมณี อายุ 51 ปี เกษตรกรผู้ปลูกหัวไชเท้า หมู่ 10 บ.หนองโง้ง ต.บ้านแฮด อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ตอนนี้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างมาก เนื่องจากไม่มีน้ำทำการเกษตรมาแล้วกว่า 1 เดือน ทำให้หัวไชเท้าใบเหลือง เหี่ยวแห้งตายหมด ซึ่งทุกปีก็มีน้ำพอเหลือใช้ แต่ปีนี้แล้งสุดไม่เหลือน้ำทำการเกษตร สาเหตุมาจากฝนทิ้งช่วงและภัยแล้งมาเร็วกว่าปกติ ประกอบกับฝายกั้นน้ำที่ชลประทานทำไว้ได้ขาดลง ขณะนี้อยู่ระหว่างการซ่อมแซม จึงไม่เหลือน้ำทำการเกษตร

ปกติเกษตรกรจะรดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น แต่ตอนนี้ต้องรดผักแค่วันละครั้งเท่านั้น จึงทำให้ผลผลิตการเกษตรลดลงไปกว่าครึ่ง เดิมจะเก็บหัวไชเท้าได้ครั้งละ 10 กว่าตัน ตอนนี้เก็บได้แค่ 6-7 ตันเท่านั้น ส่วนราคาหัวไชเท้าในช่วงนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 5 บาท ซึ่งถือว่าได้ราคาดีพอสมควร หากมีน้ำเพียงพอ คงได้กำไรมากกว่านี้ และไม่เสี่ยงต่อการขาดทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น