กาญจนบุรี - เปิดงบโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งของจังหวัดกาญจนบุรี หรือ “อีสานเมืองกาญจนบุรี” กว่า 12,000 ล้านบาท ล่าสุดนายกฯ เห็นชอบ สั่ง “ธรรมนัส ”เร่งดำเนินการ ขณะที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกมาคัดค้านหวั่นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศของสัตว์ป่า
ด้วยปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในฝั่งตะวันออกของจังหวัดกาญจนบุรี ประกอบด้วย อำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา อำเภอเลาขวัญ อำเภอหนองปรือ และอำเภอพนมทวน ที่ประสบกับปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำมายาวนาน จึงถูกจัดอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งสูง
ในขณะเดียวกัน พื้นที่ฝั่งตะวันตกของจังหวัดมีแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างถึง 4,500 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ซึ่งเมื่อพิจารณาการใช้น้ำในลุ่มน้ำแม่กลอง พบว่ามีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการใช้ และยังมีปริมาณน้ำเหลือใช้ ทำให้การผันน้ำเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาภัยแล้ง
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จึงเห็นควรดำเนินการศึกษาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและความเหมาะสมของโครงการผันน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ด้วยการเตรียมดำเนินโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งของจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีองค์ประกอบของโครงการตั้งอยู่ในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี
สำหรับโครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี องค์ประกอบของโครงการ ประกอบด้วยอาคารรับน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ไปตามอุโมงค์ผันน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.2 เมตร ยาวประมาณ 20.5 กิโลเมตร ลอดผ่านใต้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระไปอาคารจ่ายน้ำอ่างเก็บน้ำลำอีซู ปริมาณน้ำที่ผัน 12 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และระบบส่งน้ำประกอบด้วยท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำอีซู ไปบ่อพักน้ำตำบลหลุมรัง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 เมตร ยาวประมาณ 14.2 กิโลเมตร บ่อพักน้ำตำบลหลุมรัง ขนาดพื้นที่ 651 ไร่ ความจุประมาณ 3.7 ล้านลูกบาศก์เมตร และคลองส่งน้ำสายหลักจากบ่อพักน้ำตำบลหลุมรังไปพื้นที่รับประโยชน์ ยาวประมาณ 94 กิโลเมตร และท่อส่งน้ำสายซอยจำนวน 42 สาย ความยาวรวม 314 กิโลเมตร ใช้งบประมาณทั้งโครงการ รวมค่าเวนคืนที่ดินจำนวน 12,007.96 ล้านบาท
สำหรับการขุดเจาะอุโมงค์ใช้วิธี TBM (Tunnel Boring Machine) เนื่องด้วยพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ การก่อสร้างจึงพยายามลดผลกระทบด้านเสียงและการสั่นสะเทือนจากการก่อสร้างให้มากที่สุด จึงออกแบบให้เจาะอุโมงค์ 2 ด้านพร้อมกันคือ จากด้านปากอุโมงค์ 10.265 กิโลเมตร และจากด้านปลายอุโมงค์ 10.265 กิโลเมตร โดยไม่มีการเจาะทางเข้าออกระหว่างทางตลอดแนวอุโมงค์ โดยไม่มีการเปิดหน้าดินตลอดแนวอุโมงค์ และความลึกของอุโมงค์ลึกจากผิวดินเฉลี่ย 500 เมตร
โดยในช่วงแรกจำเป็นต้องใช้วิธี Drilling and Blasting (D&B) บริเวณปากอุโมงค์เพื่อเตรียมพื้นที่ก่อสร้างก่อนดำเนินการก่อสร้างด้วยวิธีเครื่องขุดเจาะ TBM ซึ่งการระเบิดจะสามารถดำเนินการได้เฉลี่ย 4-6 เมตร/วัน ระยะทาง 50 เมตร คาดว่าใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ส่วนอุโมงค์หลักจะก่อสร้างโดยใช้หัวเจาะ TBM ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.20 เมตร ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้เฉลี่ยประมาณ 12-20 เมตรต่อวัน ระยะทางด้านละ 10.265 กม. คาดว่าใช้เวลาประมาณ 4 ปี
ผลประโยชน์ของโครงการ ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่อำเภอห้วยกระเจา เลาขวัญ หนองปรือ และพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี 5.87 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี เพื่อบรรเทาความขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตรในพื้นที่อำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี โดยสามารถส่งน้ำในฤดูฝนได้ 149 ล้านลูกบาศก์เมตร ฤดูแล้ง 129 ล้านลูกบาศก์เมตร รวม 278 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ในพื้นที่การเกษตรทั้งหมดประมาณ 400,000 ไร่ มีครัวเรือนที่จะได้รับประโยชน์ประมาณ 53,810 ครัวเรือน และมีความคุ้มค่าด้านเศรษฐศาสตร์
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการพัฒนาโครงการได้มีการกำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขเพื่อลดผลกระทบและจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขและแผนปฏิบัติการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ตามมาตรฐานสากลและมีความเหมาะสมมากที่สุด
เมื่อมีการพัฒนาโครงการเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งแล้ว ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งทั้งการเพิ่มปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งทั้ง 5 อำเภอ ทั้งนี้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ตระหนักถึงความวิตกกังวลของผู้มีส่วนได้เสียที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมจากโครงการ
จึงกำหนดให้มีการประชาสัมพันธ์และจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาหารือ แสดงความคิดเห็น ประเด็นห่วงกังวล และข้อเสนอแนะต่างๆ ตลอดระยะเวลาการศึกษา ได้แก่ การประชุมปฐมนิเทศ การประชุมกลุ่มย่อย 2 ครั้ง การสัมมนาโครงการ กิจกรรมสื่อสัญจร 2 ครั้ง และการประชุมปัจฉิมนิเทศ โดยทุกๆ ความคิดเห็นจะได้นำมาใช้เป็นกรอบในการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่ และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการดังกล่าวอย่างชัดเจน โดยให้เหตุผลว่าการผ่านรายงานการสร้างอุโมงค์ผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี ของกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จากการประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำครั้งที่ 26/2566 หากดำเนินการปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว สามารถเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
สืบเนื่องจากการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าสำคัญใกล้สูญพันธุ์ และเป็นเรื่องของความมั่นคงต่อระบบนิเวศโดยรอบ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งยังเป็นป่าผืนเดียวกันกับทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง ซึ่งถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ส่งผลให้รอยต่อของป่าทุกตารางนิ้วนั้นมีความสำคัญต่อระบบนิเวศโดยรวมของพื้นที่ ความต่อเนื่องของเขตป่านั้นจะเป็นประโยชน์แก่การขยายพันธุ์และการหาอาหารของสัตว์ป่า
พื้นที่ก่อสร้างในบริเวณนี้มีลักษณะเป็นภูเขาและที่สูง มีพื้นที่ด้านเหนือและด้านตะวันตกอยู่ในอำเภอศรีสวัสดิ์ ถัดไปด้านตะวันออกเป็นเขตที่ราบเชิงเขา อยู่ในอำเภอบ่อพลอย อำเภอหนองปรือ อำเภอเลาขวัญ และอำเภอห้วยกระเจา พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งมีปัญหาเรื่องสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น ช้างป่าหากมีการขุดเจาะอุโมงค์อาจเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกิดปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่มากขึ้น และเพิ่มปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า เนื่องจากโครงการนี้ไม่ได้มีการลงพื้นที่สำรวจอย่างจริงจัง มีเพียงแต่การใช้ข้อมูลทุติยภูมิประกอบการทำรายงาน ซึ่งอาจทำให้ขาดข้อมูลที่สำคัญ เนื่องจากไม่ได้อัปเดตข้อมูลปัจจุบันของสภาพแวดล้อมโดยรอบในเรื่องของนิเวศป่าไม้ สัตว์ป่า และสภาพทางธรณีวิทยา
พื้นที่ตามแนวอุโมงค์เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งจากเครื่องจักรและคนที่เข้าไปทำการสำรวจพื้นที่ หากดำเนินการจะเป็นการรบกวนถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าอย่างรุนแรง รวมทั้งอาจมีปัญหาการเข้าบำรุงรักษาพื้นที่แนวอุโมงค์กรมชลประทานและสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ยังมีทางเลือกอื่นที่จะสามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรีโดยไม่ต้องใช้ทางเลือกที่ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยตรงและควรดำเนินการเลือกพื้นที่เหมาะสมนอกพื้นที่คุ้มครอง
ล่าสุด นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ออกมาบอกว่า ได้นำเรื่องโครงการอุโมงค์ผันน้ำ เสนอนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ เห็นด้วย พร้อมได้มอบหมายให้ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามและเร่งรัดหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ดำเนินโครงการดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้ทั้ง 5 อำเภอ เชื่อว่าอีกไม่นานพื้นที่ทั้ง 5 อำเภอจะมีแต่ความอุดมสมบูรณ์ และอนาคตจะไม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นอีสานภาคตะวันตกอีกต่อไป