ศูนย์ข่าวศรีราชา- ทร.แจงปมจ้างเอกชนขุดลอกอ่างเก็บน้ำคลองบางไผ่ จ.ระยอง ดำเนินการโปร่งใส ไม่เอื้อผลประโยชน์เอกชน ชี้อยู่ภายใต้โครงการ 'ดินแลกน้ำ' ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม รับการเกิดขึ้นโครงการ EEC ช่วยชลบุรี-ระยอง มีน้ำใช้เพียงพอ
วันนี้ (23 ก.พ.) พล.ร.ท.ชยุต นาเวศภูติกร ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ กองทัพเรือ ได้เปิดแถลงข่าวชี้แจงกรณีการว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ารับเหมาดำเนินการขุดลอกอ่างเก็บน้ำคลองบางไผ่ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง (ในส่วนพื้นที่ จ.ระยอง) พร้อมนำสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมจุดที่มีการดำเนินการขุดลอก โดยบอกว่าว่าการดำเนินงานดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการ 'ขุดดินแลกน้ำ' ที่เป็นการนำวัสดุมูลดินที่ได้จากการขุดลอกมาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ ด้วยการเปลี่ยนเป็นมูลค่าสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ
โดยผู้รับเหมาจะแบ่งเงินที่ได้จากการนำเอามูลดินที่ขุดลอกขึ้นมาได้ไปขายส่วนหนึ่งเป็นค่าจ้างในการทำงาน และอีกส่วนหนึ่งที่เหลือจะส่งคืนให้กองคลัง ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีกับทางภาครัฐ ที่ไม่ต้องใช้งบประมาณในการดำเนินงาน และยังได้เงินจากโครงการเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป
ทั้งนี้ โครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำคลองบางไผ่ เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ 'ขุดดินแลกน้ำ' ที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายตามนโยบายของ ผบ.ทร. ที่ต้องการให้การจัดทำทุกโครงการเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้
"ส่วนประเด็นที่มีการตั้งข้อสงสัยเรื่องการนำกรวด หิน ดิน ทราย ที่ได้จากการขุดลอกไปเป็นค่าจ้างในการขุดที่อาจทำให้รัฐเสียประโยชน์นั้น ขอยืนยันว่าเป็นการทำงานตามสัญญาที่ฐานทัพเรือสัตหีบได้เซ็นสัญญากับบริษัทรับเหมา และได้มีการประเมินราคามูลดินโดยคณะกรรมการที่กำหนดราคามูลดินขุดลอกงานจ้างขุดลอกอ่างเก็บน้ำคลองบางไผ่ ในสัญญาจ้างเฟสแรก เป็นเงิน 65 ล้านบาท ขณะที่การทรายมูลดินที่ได้มียอดเงินรวมทั้งสิ้น 82,338,312 บาท จึงเหลือเงินส่วนต่างจากการทำโครงการที่ 16,758,312 บาท ซึ่งฐานทัพเรือสัตหีบจะส่งเข้าคลังเพื่อเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป"
ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ ยังยืนยันอีกว่ารัฐไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนอย่างแน่นอน และการร่างสัญญาจ้าง หรือ TOR ยังมีหลายหน่วยงานร่วมพิจารณาตรวจสอบด้วย
นอกจากนั้น โครงขุดลอกอ่างเก็บน้ำคลองบางไผ่ 'ขุดดินแลกน้ำ' ยังเป็นโครงการที่จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วม เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของโครงการ EEC โดยมีการดำเนินงานใน 4 เฟส ซึ่งจะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับน้ำจากเดิม 9.89 ลบ.ม. เป็น 21.89 ลบ.ม. และยังจะทำให้พื้นที่ จ.ชลบุรี และระยอง มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ