นครพนม - ไม่น่าเชื่อในยุคที่ ส.ส.ได้งบกินข้าวในสภาฯ วันละ 1,000 บาท ยังมีโรงเรียนที่นครพนมห่างจากตัวเมืองแค่ กิโลฯ ทั้งโรงเรียนมีครูผู้สอนแค่คนเดียว สอนดะ 8 วิชา/วัน จนเจ้าตัวก็งงสอนไปได้อย่างไร และเด็กจะได้ความรู้แค่ไหน ส่วนงบประมาณได้รับปีละ 30,000 บาท ไม่พอใช้ต้องเรี่ยไรจากชาวบ้านเพิ่ม
เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าในยุคที่ค่าอาหารของบรรดา ส.ส.ในสภาฯ ตกหัวละ 1,000 บาท/วัน ยังมีโรงเรียนชั้นประถมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดนครพนม ซึ่งอยู่ห่างตัวเมืองแค่ 5 กิโลเมตรกลับขาดแคลนครูผู้สอน ทั้งโรงเรียนมีครูแค่คนเดียว รับผิดชอบการสอนคนเดียว 2 ห้อง 8 วิชาในวันเดียว ที่สำคัญมีสถานะเพียงครูผู้ช่วยเท่านั้น จนตัวครูเองยังงงว่าแต่ละวันได้สอนอะไรไปบ้าง หวั่นกังวลว่านักเรียนจะได้ความรู้ไปมากน้อยแค่ไหน จะเท่ากันกับเด็กนักเรียนที่มีครูประจำชั้น ครูผู้สอนประจำแต่ละวิชาเหมือนกับโรงเรียนใหญ่ในตัวเมืองหรือไม่
หลังทราบว่ายังมีสถานศึกษาเยี่ยงนี้อยู่ ผู้สื่อข่าวจึงเดินทางไปที่โรงเรียนบ้านดงโชคราษฎร์อุทิศ บ้านดงโชค ม.1 ต.หนองญาติ อ.เมือง จ.นครพนม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษา (สพป.) นครพนม เขต 1 พบ น.ส.ธัญญลักษณ์ ดีจันทร์ อายุ 22 ปี ตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยคุณครูธัญญลักษณ์เล่าว่า โรงเรียนมี อาคารเรียน 1 หลัง ขนาด 2 ชั้น แบ่งเป็น 4 ห้อง เปิดสอนชั้นอนุบาล ถึงชั้นประถมปีที่ 6 ชั้นอนุบาล 1-2 มีนักเรียน 4 คน ชั้น ป.1-ป.2 มี 5 คน ชั้น ป.3-4 มี 5 คน และชั้น ป.5-ป.6 มี 5 คน รวม 19 คน มีตัวเธอเป็นครูผู้สอนเพียงแค่คนเดียว ที่เหลือเป็นพนักงานราชการ 2 คนมาช่วยสอน ป.5 กับ ป.6
ครูธัญญลักษณ์เพิ่งมารับตำแหน่งสอนได้ 3 เดือน เวลาสอนต้องควบชั้น ยอมรับว่ามันยาก บางวิชาระดับความรู้ของนักเรียนไม่เท่ากัน ต้องแยกสอนคือต้องให้อีกชั้นหนึ่งรอ ธรรมชาติของเด็กอยู่นิ่งไม่ได้ ห้องนี้สงบแต่อีกห้องดื้อ จึงพากันดื้อทั้งห้อง บางวันสอนวันเดียว 8 วิชา รวมทั้งพลศึกษา สอนไปมาตัวครูผู้สอนก็ยังงงๆ อยากให้มีครูมาสอนครบชั้น เด็กจะได้ความรู้เต็มที่ สอนแบบนี้ค่อนข้างลำบาก นักเรียนน้อยก็จริงแต่อยากของบประมาณให้มากขึ้น จากเดิมได้ปีละแค่ 3 หมื่นบาท
ขณะที่นายศุภมาศ กุลตั้งวัฒนา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดงโชคราษฎร์อุทิศ บอกว่า โรงเรียนนี้ปกติมีครูแค่คนเดียว ทางผู้อำนวยการเขตจึงส่งพนักงานราชการมาช่วย 2 คน คนแรกเป็นชาย สอน ป.5-ป.6 อีกคนเป็นหญิงพนักงานธุรการ ช่วยสอนชั้นอนุบาลและเป็นนักการภารโรงด้วย โชคดีที่ไม่ได้อยู่เวรยามหลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งยกเลิกครูเวร งบประมาณต่อปีได้แค่ 30,000 บาท ไม่พอใช้จ่าย ต้องขอชาวบ้านและผู้ปกครองมาช่วยเรี่ยไรทำกิจกรรม
เคยจัดทอดผ้าป่าการศึกษา ได้เงินมา 1 แสนบาท หมดไปกับการทำโรงน้ำ ซ่อมห้องส้วม ปูกระเบื้อง ค่าน้ำค่าไฟ ตกรวมเดือนละ 2,000 บาท นักเรียน 19 คน มีครูผู้สอนแค่ 1 คน ยอมรับว่าไม่ไหว ส่วนนักการภารโรงมีผู้ปกครองอาสามาปัดกวาด ล้างห้องน้ำหลังส่งลูกเข้าเรียน หมู่บ้านแห่งนี้มี 100 หลังคาเรือน
ด้านนายสุนทร ผูนา ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวยอมรับว่าครูมีน้อยแค่ 1 คน วันพฤหัสบดีขอแรงตำรวจอาสามาสอนเรื่องยาเสพติด วันศุกร์ได้แม่ชีมาสอนเรื่องคุณธรรมจริยธรรม หากหมู่บ้านนี้ชาวบ้านและผู้นำหมู่บ้านไม่เข้มแข็ง จัดทอดผ้าป่ามาสมทบป่านนี้โรงเรียนอาจถูกยุบไปนานแล้ว จึงอยากวิงวอนและขอยกมือท่วมหัวอย่ายุบโรงเรียนนี้ทิ้งเลย เพราะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 นาน 83 ปีพร้อมกับการตั้งวัดที่อยู่ตรงข้ามกัน