ศูนย์ข่าวขอนแก่น - มหาวิทยาลัยขอนแก่นเดินหน้าโครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้าใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน จับมือ “สตรอม” ผู้ผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทย ส่งเสริมใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เป็นเมืองยานยนต์ไฟฟ้า ขณะที่สตรอมเล็งใช้แบตเตอรี่จากโรงงานต้นแบบ มข.ที่มีคุณภาพสูงกว่าแบตเตอรี่นำเข้า
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย ผศ.ดร.อาวุธ ยิ้มแต้ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม, ม.ร.ว.พีรานุพงศ์ ภาณุพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตรอม (ไทยแลนด์) จำกัด, ผศ.นพ.ธารา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร, นายสุรชัย สินประกอบ พลังงานจังหวัดขอนแก่น,
รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ และนายธีระศักดิ์ ทีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ร่วมแถลงข่าว “โครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน” มีคณะผู้บริหาร มข. ผู้บริหารบริษัท สตรอม (ไทยแลนด์) จำกัด และสื่อมวลชน ร่วมรับฟังการแถลงข่าว
นายแพทย์ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กับบริษัท ออสก้าโฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท สตรอม (ไทยแลนด์) จำกัด เรื่องนำแบตเตอรี่ที่ มข.วิจัยไปใช้ในจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งการใช้งานจักรยานยนต์มีการใช้ในพื้นที่ มข.หลายหมื่นคัน เฉพาะนักศึกษามีอยู่ประมาณ 36,000-38,000 คน เฉลี่ยมีมอเตอร์ไซค์คนละ 1 คัน ทั้งรวมกับมอเตอร์ไซค์ของบุคลากรอีกประมาณหมื่นคัน
หากสามารถเปลี่ยนจากจักรยานยนต์สันดาปมาเป็นพลังงานไฟฟ้า จะเกิดผลดีมหาศาลทั้งในแง่การใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซ CO2 ถือเป็นความตั้งใจของ มข.ที่จะส่งเสริมให้ มข.เป็นเมืองยานยนต์ไฟฟ้า ใช้พลังงานสะอาด มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเลือกบริษัท สตรอม (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์ผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้ามานานและผลิตแบตเตอรี่ด้วย
ขณะเดียวกัน แนวคิดบริษัท สตรอมฯ เป็นบริษัทที่ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ ซึ่งแบตเตอรี่สามารถนำเข้าจากต่างประเทศในราคาที่แข่งขันได้ แต่ผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ของ มข.ตั้งมาตรฐานไว้สูง มีระบบประเมินอายุแบตเตอรี่ โดยรับประกันการใช้งานไว้ 2 ปี แต่การใช้งานจริงอาจยาวถึง 3-5 ปี เชื่อมั่นว่าแบตเตอรี่ที่ผลิตโดย มข.มีคุณภาพที่เหนือกว่าแบตเตอรี่นำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงมีเทคโนโลยีติดตามอายุการใช้ การซ่อมบำรุง จะทำให้ผู้ผลิตประหยัดต้นทุนลงได้ จึงเกิดความร่วมมือกันระหว่าง มข.กับสตรอม
ด้าน ม.ร.ว.พีรานุพงศ์ ภาณุพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สตรอม (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ขอบคุณทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เปิดโอกาสให้เรามีส่วนร่วมเป็นพันธมิตร ผลักดันการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยรุ่นหลักๆ ที่เป็นการร่วมมือระหว่างบริษัท กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือรุ่น STROM Gorilla เป็นรถจักรยานยนต์รุ่นใหญ่ สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ เหมาะกับบุคลากร นักศึกษา และบุคคลทั่วไป
อีกรุ่นจะเป็นรุ่นที่เล็กลงมา คือรุ่น STROM Seal เหมาะสำหรับขับขี่ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย หรือขับขี่ภายในตัวเมือง มีทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าได้ที่ https://www.facebook.com/STROM.EV/
ด้าน รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ กล่าวว่า โรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำหน้าที่ผลิตแบตเตอรี่แบรนด์ UVOLT ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน UNR 136 และ มอก.2952-2561 และจำหน่ายให้ STROM ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของไทย นอกจากนี้ โรงงานฯ ยังสามารถผลิตแบตเตอรี่เพื่อรองรับการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องการแบตเตอรี่ เช่น อุปกรณ์การแพทย์ อุปกรณ์การเกษตร และระบบกักเก็บพลังงานร่วมกับโซลาร์เซลล์
แบตเตอรี่ที่เข้าร่วมกับสตรอมจะสามารถใช้งานได้ 50-70 กิโลเมตร ก่อนนำมาชาร์จใหม่ขึ้นกับขนาดของรถจักรยานยนต์ ล่าสุดโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่ได้ออกแบบให้รองรับการใช้งานได้สูงสุดถึง 120 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง เพื่อรองรับพฤติกรรมการใช้งาน และพยายามออกแบบให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น รวมถึงการรีไซเคิลแบตเตอรี่รองรับไว้ด้วย
สำหรับบริษัท สตรอม (ไทยแลนด์) จำกัด มีสถานะเป็นบริษัทลูกในเครือของออสก้า ดำเนินกิจการเป็นผู้ออกแบบ และประกอบจักรยานยนต์ไฟฟ้า และรถไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่จะนำมาใช้ในการทดสอบแบตเตอรี่ มีโรงงานตั้งอยู่บนถนนบางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 13 บนพื้นที่กว่า 3,000 ตร.ม. มีกำลังผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้าถึงเดือนละไม่ต่ำกว่า 1,000 คัน
Strom เป็นบริษัทของคนไทย 100% มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของคนไทย เลือกใช้วัตถุดิบที่สามารถหาได้ในประเทศให้มากที่สุด และลดสัดส่วนวัตถุดิบจากต่างประเทศลง เพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมีอระหว่างนักวิจัย สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการ โครงการความร่วมมือกับ มข.เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ให้ก้าวหน้า และยกระดับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของคนไทยให้แข่งขันได้ทัดเทียมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างยั่งยืน