xs
xsm
sm
md
lg

ปางช้างดังเชียงใหม่ นำครูบาปะกำรุ่นสุดไทยของไทย ร่วมฟื้นพิธี “ไหว้ครูปะกำ” สานตำนานช้างไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ – “ปางช้างแม่แตง เชียงใหม่” เชิญควาญช้างอาวุโส-ครูบาปะกำรุ่นสุดท้ายของไทย ร่วมฟื้นฟูสืบสานพิธีไหว้ครูปะกำ-สืบสานตำนานช้างไทย หลังต้องว่างเว้นมานานหลายปีช่วงโควิดระบาด


วันนี้(20 ม.ค.67) ปางช้างแม่แตง จ.เชียงใหม่ ได้จัดให้มีพิธีไหว้ครูปะกำ ที่ศาลปะกำประจำปางช้างแม่แตง ที่เคยจัดต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน แต่ได้หยุดไปในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด กระทั่งได้รื้อฟื้อจัดขึ้นมาในปีนี้อีกครั้งเพื่อเป็นการฟื้นฟูรักษาประเพณีช้างไทยที่สืบทอดต่อกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศไทย

ซึ่งในการพิธีไหว้ครูปะกำครั้งนี้ นายแก้ว บุตรชาติ อดีตควาญช้างหลวงผู้ดูแลคุณพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ช้างสำคัญคู่พระบารมีช้างแรกในรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มาเป็นประธานในพิธี

และมีครูบาปะจำ จาก ต.บ้านค่าย อ.เมือง จ.ชัยภูมิ มาเป็นเจ้าพิธี นำโดยนายประกอบ บุญมั่น นายกวด วงษา นายมานะ ไตรยศ นายมานะ ปั้นเจริญ และนายทองล้วน พงษ์วิเศษ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นครูบาช้างที่เคยใช้เชือกปะกำไปคล้องช้างป่ามา และเป็นเหล่าควาญช้างอาวุโสที่ถือได้ว่าเป็นครูบาปะกำรุ่นสุดท้ายของประเทศไทย

พิธีไหว้ครูปะกำเริ่มต้นจากการไหว้เจ้าที่เจ้าปู่เพื่อเป็นการเปิดทาง จำลองการขออนุญาตเข้าป่าเพื่อคล้องช้าง ต่อด้วยการไหว้ครูปะกำ ซึ่งมีเครื่องเซ่นไหว้บวงสรวงประกอบด้วย หัวหมู ไก่ต้ม เหล้าขาว หมากพลูบุหรี่ ดอกไม้ธูปเทียน พร้อมด้วยผลไม้ต่างๆ ที่ช้างชอบกิน ซึ่งครูบาเจ้าพิธีจะเป็นคนนำกล่าวและทำพิธี และมีการเสี่ยวทายจากการหมุนมีดว่าในการคล้องช้างป่านี้จะสำเร็จสะดวกง่ายดาย มีจะสะดวกราบรื่นปลอดภัยหรืออันตรายอย่างไรหรือไม่ ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้กับการประกอบกิจการท่องเที่ยวช้างไทยว่าจะเป็นอย่างไร จะสะดวกราบรื่นดีไหม

นางวาสนา ทองสุข ชัยเลิศ กรรมการบริหารปางช้างแม่แตง ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ปางช้างแม่แตงให้ความสำคัญการวัฒนธรรมประเพณีการเลี้ยงช้าง และประกอบพิธีไหว้ครูปะกำมาโดยตลอด แต่ได้เว้นไปหลายไปในช่วงวิกฤติโควิดที่ผ่านมา มาปีนี้สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้น มีนักท่องเที่ยวกลับมาแล้วแม้อาจจะยังไม่คืนมาปกติเหมือนช่วงก่อนโควิด แต่ก็ถือได้ว่าหายใจหายคอสะดวกข้าง พนักงานในส่วนต่างๆ ของปางช้างก็ได้กลับมาทำงาน เศรษฐกิจในหมู่บ้านก็ดีมี ผู้คนมีเงินทองจับจ่ายใช้สอยสะดวกมือขึ้น ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี ช้างก็ได้มีอาหารการกินบริบูรณ์มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวและป้อนอาหารช้างทุกวัน

วันนี้ได้มีโอกาสจัดให้มีพิธีไหว้ครูปะกำโดยมีครูบาปะกำจาก บ้านค่าย ชัยภูมิมาเป็นเจ้าพิธีประกอบพิธีให้ และได้รับเกียรติจากคุณตาแก้ว บุตรชาติ ควาญช้างหลวงผู้ดูแลช้างเผือกคุณพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ มาเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นสพ.สิทธิเดช มหาสาวังกุล หรือหมอต๋อง บุคคลสำคัญในวงการช้างไทยผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการนำช้างพลายศักดิ์สุรินทร์กลับคืนมายังประเทศไทยก็ได้ให้เกียรติมาร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย

ด้าน นสพ.สิทธิเดช มหาสาวังกุล ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสัตวแพทย์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ วันนี้โชคดีมากๆ ที่ได้มาร่วมในพิธีไหว้ครูปะกำที่ปางช้างแม่แตง เห็นแล้วก็ชื่นชมที่ช่วยกันรักษาประเพณีที่ดีงามของวงการช้างไทยไว้ การเลี้ยงช้างนั้นใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นภูมิปัญญาที่สำคัญของคนไทยเราที่ต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้ ไม่อยากให้ทิ้งรากเหง้าของวัฒนธรรมที่สำคัญของไทย เราชาวช้างต้องให้ความสำคัญดังเช่นวงการมวยไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับโลกนั้น ก็ยังคงรักษาประเพณีไหว้ครูก่อนทำการชกไว้ ก็อยากให้ชาวช้างช่วยกันรักษาไว้เป็นมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างไทยสืบไป ”

สำหรับ “ปะกำ” คือเชือกที่ใช้คล้องช้างป่า ทำจากหนังควาย ซึ่งได้บรรจงตัดให้เป็นเส้นยาวแล้วนำไปตากให้แห้ง ซึ่งจำมีความทนทานและเหนียวเป็นพิเศษ เพื่อใช้ในการคล้องจับช้างป่า ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิสำคัญของคนเลี้ยงช้าง ซึ่งหาได้ยากแล้วในทุกวันนี้ เพราะการคล้องหรือจับช้างป่ามาเพื่อใช้งานได้ถูกยกเลิกไปนานแล้ว ทำให้พิธีไหว้ครูปะจำซึ่งจะมีก่อนการคล้องช้างป่าเริ่มเลือนหายไปจากสังคมไทย ซึ่งจะยังคงมีเหลืออยู่แค่ในหมู่คนเลี้ยงช้างเท่านั้นเพื่อเป็นการสืบสานตำนานการเลี้ยงช้างไทยตามประเพณีโบราณ และเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงการระลึกถึงบรรพบุรุษของคนเลี้ยงช้างไทย






กำลังโหลดความคิดเห็น