เชียงใหม่ - ผู้บริหารเชียงใหม่ไนท์ซาฟารียกทีมสัตวแพทย์ตั้งโต๊ะชี้แจงรายละเอียดยิบ ยืนยันในช่วง ธ.ค. 66 มีสัตว์ตายเพียง 4 ตัวเท่านั้น ไม่ใช่ 13 ตัว โดยทั้งหมดเป็นการตายตามธรรมชาติ ย้ำชัดไร้ปริศนาและความผิดปกติใดๆ พร้อมให้ตรวจสอบได้
ช่วงบ่ายวันนี้ (15 ม.ค. 67) ที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี นายกฤษดา ลาพิมล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนครและผู้อำนวยการสำนักบริหารงานกลาง ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร พร้อมคณะผู้บริหารและสัตวแพทย์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ร่วมกันชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีที่ปรากฏว่ามีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการตายของสัตว์ในความดูแลของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีในช่วงเดือน ธ.ค. 66 โดยระบุว่ามีการตายจำนวน 13 ตัวและอาจเป็นการตายอย่างผิดปกติ รวมทั้งตั้งข้อสังเกตด้วยว่าจำนวนสัตว์ที่จัดแสดงอยู่มีจำนวนไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งนายกฤษดาระบุว่า จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวดังกล่าว ทางสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างละเอียด และรายงานให้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนครที่เป็นผู้กำกับดูแลทราบแล้ว
ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบการตายของสัตว์ในเดือน ธ.ค. 66 นั้น ไนท์ซาฟารีมีสัตว์ในความดูแลที่ตายเพียง 4 ตัว ได้แก่ สุนัขจิ้งจอก 1 ตัว สาเหตุจากเนื้องอกที่ตับอ่อน, สุนัขเฟนเน็ค
1 ตัว สาเหตุจากเนื้องอกที่ไทรอยด์, ค่างห้าสี 1 ตัว สาเหตุจากภาวะตับอักเสบและติดเชื้อ และแมวดาว 1 ตัว จากความชราและหมดอายุขัย โดยทั้งหมดเป็นการตายตามธรรมชาติ ไม่ใช่การตายจากสาเหตุที่ผิดปกติ และไม่ได้ตายมากถึง 13 ตัวตามที่ปรากฏข่าวแต่อย่างใด ส่วนประเด็นลีเมอร์ที่สูญหายนั้น จากการตรวจสอบพบว่าถูกงูเหลือมขนาดใหญ่ที่แอบเข้าไปในส่วนจัดแสดงกินจริงๆ เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นป่าสมบูรณ์ ซึ่งกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2564 แล้ว พร้อมแก้ไขปัญหาและวางมาตรการป้องกัน โดยตั้งแต่นั้นไม่เคยเกิดปัญหาขึ้นอีกเลย
สำหรับการตายของสัตว์ทุกตัวในความดูแลนั้น จะมีกระบวนการในการชันสูตรซาก โดยการผ่าชันสูตรซากสัตว์ทุกตัว พร้อมเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อและอวัยวะส่งตรวจต่อไปยังห้องปฏิบัติการ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรมปศุสัตว์ รวมทั้งตามปกติจะต้องรายงานการเกิดและตายของสัตว์ทุกตัวต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประจำทุกเดือน ยกเว้นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทเสือโคร่งที่ต้องรายงานภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ 2562
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าสัตว์ที่มีอยู่ดูมีจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็นนั้น สาเหตุมาจากการที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีได้เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน ทำให้สัตว์ที่นำมาแสดงในช่วงแรกๆ เริ่มอยู่ในวัยชราและหมดอายุขัย จึงอาจจะมีจำนวนลดน้อยลงไปบ้าง ทั้งนี้ยืนยันว่าเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมีมาตรฐานการจัดการสัตว์และเลี้ยงสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ตามมาตรฐานของ WAZA และ SEAZA ขณะเดียวกันย้ำว่าการบริหารงานของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารียึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ทุกกระบวนการ