xs
xsm
sm
md
lg

ประธานองค์กรผู้ใช้น้ำชัยนาทตั้งคำถามกรมชลฯ ใช้เกณฑ์ใดกำหนดพื้นที่เพาะปลูกนาปรัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - ประธานองค์กรผู้ใช้น้ำคลองสอง จ.ชัยนาท ตั้งคำถามกรมชลฯ ใช้เกณฑ์ใดกำหนดพื้นที่เพาะปลูกคาดการณ์ หลังปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกนาปรังเกินจำนวนจริงไปมาก สวนทางปริมาณน้ำรองรับ

จากกรณีที่กรมชลประทาน ได้จัดทำรายงานแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2566/67 ในเขตชลประทานลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งพบว่ามี 2 โครงการที่มีการเพาะปลูกเกินกว่าแผนที่คาดการณ์ไว้ ประกอบด้วย โครงการทุ่งฝั่งตะวันตกตอนบน ที่มีโครงการพลเทพ ทุ่งวัดสิงห์ ท่าโบสถ์ สามชุก ดอนเจดีย์ โพธิ์พระยา บรมธาตุ ชัณสูตร ยางมณี อ.ผักไห่ และ อ.บางบาล ซึ่งเพาะปลูกจำนวน 1,029,918 ไร่ จากที่คาดการณ์ไว้เพียง 812,013 ไร่

ส่วนอีกโครงการ คือ ทุ่งตะวันออกตอนบน ที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูก จำนวน 212,540 ไร่ แต่ปัจจุบันกลับมีพื้นที่เพาะปลูกจริงมากถึง 666,913 ไร่

และหากรวมการเพาะปลูกในลุ่มเจ้าพระยาทั้งหมด 22 จังหวัด จะพบว่ามีพื้นที่เพาะปลูกจริง ณ ปัจจุบัน เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้กว่า 400,000 ไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกที่คาดการณ์ 2,230,544 ไร่ แต่พื้นที่เพาะปลูกจริงจำนวน 2,665,192 ไร่ แต่ปริมาณน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 2566/67 ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำต้นทุนสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ประมาณ 3.03 ล้านไร่นั้น


วันนี้ (10 ม.ค.) นายปฎิพัทธ์ กล่ำเพ็ง ประธานองค์กรผู้ใช้น้ำคลองสองขวา (โครงการมโนรมย์) จ.ชัยนาท ได้ตั้งคำถามถึงกรมชลประทาน ถึงสูตรการคำนวณเกณฑ์คาดการณ์พื้นที่เพาะปลูก หลังพบว่าปัจจุบันน้ำที่ถูกส่งเข้าไปในคลองส่งน้ำไปไม่ถึงพื้นที่การเกษตร เช่น คลองชัยนาท-ป่าสัก

สวนทางกับระดับน้ำในคลอง ซึ่งปัจจุบันมีไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคลอง จนทำให้คลองระบายที่เรียกกันว่าคลองใส้ไก่ อีกประมาณ 25 สายทางไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงในระบบ และยังทำให้ชาวนาต้องตั้งเครื่องสูบน้ำโดยใช้ท่อพญานาคสูบน้ำเข้าไปเอง ขณะที่ชาวนาอีกส่วนต้องเจาะบ่อบาดาลทำนา

"จึงอยากทราบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวนาทั้ง 2 ส่วนได้ถูกนำมาคิดคำนวณรวมอยู่ในการคาดการณ์พื้นที่เพาะปลูกด้วยหรือไม่ ที่สำคัญขณะนี้น้ำต้นทุนที่มีอยู่และถูกส่งเข้ามาใช้ในลุ่มภาคกลางมีการสูญเสียระหว่างทาง ทั้งระเหยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ ซึมลงในชั้นดิน หรือถูกแบ่งเข้าตามคลองซอย กรมชลประทานได้มีการนำส่วนนี้เข้ามาคำนวณชดเชยด้วยหรือไม่ เนื่องจากน้ำที่ถูกส่งเข้าระบบจากต้นคลอง เมื่อถึงปลายคลอง ไม่มีทางที่น้ำจะเหลือเต็มจำนวนได้"


นายปฎิพัทธ์ ยังตั้งข้อสังเกตว่าการคำนวณพื้นที่เพาะปลูกว่าเกษตรกรทำนาเกินแผน  กรมชลฯ ได้ใช้ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกที่ดูจากภาพถ่ายดาวเทียมและรายงานจากพื้นที่ซึ่งไม่สามารถแยกแยะได้ว่าพื้นที่สีเขียวที่เกิดการเพาะปลูกนั้นนำน้ำมาจากแหล่งน้ำใด 

"เนื่องการใช้น้ำเพาะปลูกในบางพื้นที่เกษตรกรใช้น้ำจากบ่อบาดาล หรือสระน้ำหลังบ้าน ท่านก็เอาไปรวมว่าเป็นพื้นที่เพาะปลูกทำให้พื้นที่เพาะปลูกเกินแผน ซึ่งข้อเท็จจริงพื้นที่เพาะปลูกที่อยู่ในแผนยังส่งน้ำให้ไม่ได้ แล้วจะเอาน้ำตรงไหนไปใส่ให้พื้นที่เพาะปลูกที่เกินแผน สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่ากำลังจะให้เกษตรกรเป็นแพะ" นายปฎิพัทธ์ กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น