พิษณุโลก - เซียนพระพิษณุโลกเปิดกรุพระนับแสนองค์ที่สะสมจนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ถอดบทเรียนสอนคนเล่นพระสมเด็จ ฝ่าชั้นเชิงนักเลงพระ เผยปริศนาตำนาน "พระสมเด็จ" พุทธคุณครอบจักรวาล หลากพิมพ์มีมาก่อนเซียนเกิด แต่เจอตีเก๊-ไม่ถึงยุค จนว่ากันว่าทำเอาคนเล่นพระเสร็จแทบทุกราย
ว่ากันว่า ใครจะเล่นพระเครื่อง โดยเฉพาะ "พระสมเด็จ" หนึ่งในเบญจภาคีนั้น "เสร็จแทบทุกราย"..อาจเป็นเพราะพระเนื้อดินนั้นดูยาก-พระเก๊ มากกว่าพระแท้ แต่แท้จริงแล้วพระสมเด็จนั้นก็มีอยู่หลายพิมพ์ หลายยุคหลายสมัย เรียกว่า..พระมาก่อนบรรดาเซียนเกิดด้วยซ้ำ จึงอนุมานว่า ใครเล่นพระสมเด็จนั้นต้องถึง..จริงๆ
ส่วนพุทธคุณจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับศรัทธา เพราะคนคล้องพระสมเด็จราคาเป็นล้าน ก็ถูกยิงคารถเก๋งหรือตกเครื่องบินดับ ก็มีมาแล้ว
สืบค้นตามประวัติ "หลวงปู่โต" ต้องเริ่มนับจากพระชาวบ้านธรรมดาๆ เกิดสมัย ร.๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ที่บ้านท่าหลวง อยุธยา บวชเณร ทว่ายุคนั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ ร.๑ ให้เป็น นาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นาม "สมเด็จโต"
พอปี พ.ศ. 2394 ยุค ร.๔ เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม จึงเป็นที่มา สมเด็จโต วัดระฆัง และได้รับพระราชทานสูงสุด เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อ พ.ศ. 2407 มรณภาพ พ.ศ. 2415 ยุคสมัยของรัชกาลที่ ๕ ที่วัดเก่าบางขุนพรหม สิริอายุ 84 ปี
เรื่องราวของ “สมเด็จโต” ได้สร้างพระเครื่องสมเด็จวัดระฆังรุ่นต่างๆ ครั้นเมื่อท่านสมเด็จฯ ขึ้นไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดกำแพงเพชร ถือเป็นอีกเมืองที่มีโบราณวัตถุทางพุทธศาสนา มีการสร้างพระพิมพ์ด้วยเนื้อผงปูนขาว ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า เนื้อพระสมเด็จ เนื้อหลักๆ เป็นปูนขาว (ปูนหิน) ผสมวัตถุมงคลอาถรรพณ์ที่เรียกว่า ผงวิเศษหรือผงพุทธคุณ ตัวประสานหรือยึดเกาะด้วย น้ำมันอิ๊ว
จากข้อมูลสืบค้น ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ถือว่าเป็นคน 5 แผ่นดิน คือเกิดในสมัยรัชกาลที่ ๑ และมรณภาพต้นรัชกาลที่ ๕ สร้างพิมพ์ทรงของพระสมเด็จโตมากถึง 73 พิมพ์ ปลุกเสกด้วยตัวตนเอง พอออกไปบิณฑบาตก็นำติดตัวไว้แจกญาติโยมที่ใส่บาตร จนเป็นที่กล่าวขานพุทธคุณด้านโภคทรัพย์ เมตตามหานิยม คงกระพันชาตรี ฯลฯ ครบครอบจักรวาลในเวลาต่อมา
พระสมเด็จแบ่งเป็น ยุคแรก พ.ศ. 2351 จนถึง 2395 ยุคสอง พิมพ์ทรงสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก สวยงาม ว่ากันว่าออกแบบโดยหลวงวิจารณ์เจียรนัย ซึ่งเป็นช่างหลวง ถือว่าเป็นพิมพ์เซียนนิยมเล่นราคาแพงในปัจจุบันนี้
ยุคสุดท้าย พ.ศ. 2409 จนถึง พ.ศ. 2415 พระสมเด็จโต ไม่ได้สร้างขึ้นใหม่อีก แต่อาจใช้มวลสารที่เหลืออยู่ พิมพ์ทรงที่ตกค้าง บ้างก็เลียนพิมพ์สวยงามของหลวงวิจารณ์เจียรนัย โดยพระลูกศิษย์เป็นผู้สร้างเพื่อสืบทอดตำนานพุทธศาสนา
“พระสมเด็จ” ที่สร้างจากมือ “สมเด็จพระพุฒาจารย์โต”แท้ๆ มี 73 ชนิด มีบ้างปลุกเสกเสร็จแล้วไปบรรจุตามเจดีย์ต่างๆ เช่น วัดศรีสุดารามวรวิหาร, วัดตะไกร, วัดระฆังฯ, วัดบางขุนพรหม, วัดกัลยานิมิตรวรวิหาร, วัดกลางคลองข่อย (ราชบุรี), วัดไชโยวรวิหาร (อ่างทอง) เป็นต้น ล้วนลักษณะเด่น 5 ประการ คือ
1. ดำปนแดงเจือเหลือง หรือเหลืองอ่อน ลักษณะงาช้างและสีอิฐ
2. มีน้ำหนักเบา
3. เนื้อละเอียด ชื้นคล้ายเปียกน้ำเสมอ แต่แข็งแกร่ง
4. แตกเป็นลายงาช้าง แนวลายสังคโลก
5. หยิบองค์พระขึ้นมา ต้องมีญาณหยั่งลึกว่า นั่นคือพระสมเด็จ
“พิมพ์ทรง” ของพระสมเด็จนั้น มีเพียงไม่กี่พิมพ์ ราคาแพงลิบทะลุหลักล้าน ขณะที่พิมพ์ทรงไม่นิยมหรือไม่มีใครรู้จัก ก็ไม่มีการเล่นหาและตั้งข้อกีดกัน ไม่ยอมรับ
อย่างไรก็ตาม หากเอ่ยถึงคนสะสมหรือศรัทธาพระสมเด็จที่เมืองพิษณุโลก นั่นก็คือ “ครูชา ขิมทศกัณฐ” หรือ นายธนภณ วรนาทมาดิษฐ ซึ่งมีพระพิมพ์สมเด็จนับแสนๆ องค์ จนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ส่วนจะแท้-จะถึงยุคทุกองค์หรือไม่นั้น..คงไม่ เพราะเจ้าตัวเน้นชื่นชอบและต้องการการสืบทอดพุทธศาสนามากกว่า ทว่า พระสมเด็จหนึ่งในแสนองค์นั้น มีใบรับรอง มีถ้วยรางวัลการันตีเป็นพระแท้เหมือนกัน ราคาประเมินแพงลิบลิ่ว “หลักล้าน” แน่นอน หลังผ่านเวทีประกวดพระเครื่องมาแล้ว
อ.ชาบอกว่า คนเล่นพระสมเด็จจะต้องศึกษา ต้องรู้ก่อนว่า สมเด็จโต มาวัดระฆังปีอะไร สร้างพระรุ่นใด ยุคใด หลายคนบอกรัชกาลที่ ๑ แต่ตนยังไม่มั่นใจ เพราะช่วงชีวิตนั้นยาวไป ตนคาดว่าท่านสมเด็จโตเกิดในรัชกาลที่ ๓ และมรณะในรัชกาลที่ ๕ ด้วยซ้ำไป นี่คือสิ่งที่ต้องศึกษา ถกเถียงกันเช่นเดียวกับวิชาประวัติศาสตร์
“สมเด็จโต” ควรเริ่มนับจากวัดระฆัง ปี 2395 สมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดพระราชทานพระธรรมกิติ เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆัง ต่อมาครองตำแหน่งได้ 3 ปี ร.๔ ได้พระราชทานตำแหน่งพระเทพกวีให้ปี 2397 ยุคนั้นมีการสร้างพระพิมพ์สมเด็จหลายพิมพ์ เพราะแต่ละช่างนำพิมพ์หรือบล็อกมาให้ท่านสมเด็จโตปลุกเสก รวมทั้งได้สร้างพระสมเด็จพิมพ์ประธานเกศจรดซุ้ม เพื่อการแจกจ่ายเป็นที่ระลึก
พอปี 2399 สมเด็จโต ย้ายมาอยู่วัดอินทร์ และปี 2409 ร.๔ ทรงยกตำแหน่ง จาก "หลวงปู่โต" เป็น "สมเด็จโต" และมีการสร้างพระสมเด็จ พิมพ์พระประธาน "สมเด็จเกศ ทะลุซุ้ม" และพิมพ์ใหญ่ เกศทะลุซุ้ม พร้อมพระพิมพ์อื่นจำนวนมาก จึงเป็นตำนาน และสร้างต่อๆ กันมากว่า 22 พิมพ์
สมเด็จโตท่านไม่ได้แกะพิมพ์เอง ส่วนใหญ่มีช่างหลวงแกะพิมพ์ให้และนำมาถวาย จึงทำให้มีการสร้างพระจำนวนมาก เช่น ช่างหลวงสิทธิการโยธารักษ์ ช่างสิบหมู่หลวงวิจิตรนฤมล กระทั่งหลวงวิจารณ์เจียรนัย นอกจากนี้ยังมีช่างชาวบ้านมาถวาย ท่านก็สร้างพระพิมพ์สมเด็จโดยไม่ขัด เรียกว่าสร้างบล็อกเป็นพันๆ บล็อก
การสร้างและปลุกเสกพระแต่ละครั้ง ยึดจำนวน 84,000 องค์หรือธรรมขันธ์ บล็อกที่พิมพ์พระสมเด็จก็ไม่ได้ทุบบล็อก เพราะยุคนั้นไม่มีการค้าขายพระ จึงมีการทำพระแจกในรัชกาลที่ ๖ และ ๗ อีก อันเป็นที่มาของพระสมเด็จตรารัชกาลอีก เป็นต้นว่า รัชกาล ๔, ๕, ๗ ซึ่งยุคนั้นคงไม่มีใครกล้าทำปลอม เพราะจะถูกสาปแช่งได้
กล่าวโดยสรุปแล้ว พระสมเด็จฯ นั้นมีจำนวนมาก พิจารณาหลักๆ ว่า แท้ ก็ดูที่เนื้อพระ คือ แตก-ลายงา การยุบของเนื้อและพิมพ์ ส่วนพิมพ์ที่คนนิยม หลักๆ คือ พิมพ์พระประธาน, พิมพ์ใหญ่, พิมพ์ปรกโพ, พิมพ์เจดีย์, พิมพ์เกศบัวตูม, พิมพ์ฐานแซม ส่วนที่ราคาแพงสุด คือ พิมพ์พระประธาน, พิมพ์ใหญ่ ราคาเรียกว่า ระดับร้อยล้านบาท
สุดท้ายแล้ว “เซียนพระ” มักมองว่า พระของตัวเองนั้นดี ราคาสูง แต่พระคนอื่นนั้น เก๊บ้าง ไม่ถึงยุคบ้าง ไม่สมบูรณ์บ้าง นั่นคือ เทคนิคการขายของเซียนพระเมืองไทย ส่วนการบูชาอาราธนาพระสมเด็จ ขอให้กล่าวว่า ขอพุทธคุณครอบจักรวาล จงคุ้มครองข้าพเจ้าและครอบครัวของข้าพเจ้าตลอดไป ณ บัดนี้