xs
xsm
sm
md
lg

ห่มพระปรางค์ที่ใหญ่ที่สุดของลพบุรี ก่อนการจัดงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปี 2567

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลพบุรี - คณะศิษย์หลวงพ่อถม ชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี แห่ผ้าพระบฏ ห่มพระปรางค์ที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดลพบุรี ในงานทำบุญเมืองลพบุรี ครั้งที่ 24 เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล ก่อนการจัดงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประจำปี 2567

เย็นวันนี้ (26 ธ.ค.) คณะศิษย์หลวงพ่อถม วัดเชิงท่า ชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี ภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคประชาชนจังหวัดลพบุรี ได้จัดพิธีทำบุญเมืองขึ้น โดยได้มีการวาดภาพพระบฏและแห่ผ้าพระบฏ พร้อมทั้งอัญเชิญพระพุทธเจ้าเลียบเมือง จากพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ไปวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเพื่อทำพิธีทำบุญเมือง

โดยมีนายวชิระ เกตุพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นางสุวจี ศิริปัญโญ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลพบุรี นายปรัชญา เปปะตัง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี หัวหน้าส่วนราชการ และพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดลพบุรีร่วมพิธี กิจกรรมภายในงานมีการแสดงของนักเรียน และการแสดงธรรมกลางเมือง ในเรื่อง "เมตตาธรรมลดความรุนแรง ด้วยพรหมวิหาร 4" โดยพระครูจารุธรรมพิมล (ราวี จารธมโม) เจ้าอาวาสวัดป่าโนนกุดหล่ม จังหวัดศรีสะเกษ และพิธีถวายผ้าพระบฏ ห่มพระปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุ และเวียนเทียนเป็นพุทธบูชา

นับเป็นการเริ่มต้นในงานทำบุญเมืองจังหวัดลพบุรี ก่อนการจัดงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประจำปี 2567 วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟลพบุรี ซึ่งคาดว่าสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19 โดยสันนิษฐานจากโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมและประติมากรรมที่ผสมผสานศิลปะของหลายๆ ยุคเข้าด้วยกัน ทั้งศิลปะแบบละโว้ที่ได้รับอิทธิพลมาจากขอม ศิลปะแบบอู่ทอง และแบบตะวันตก มีการบูรณปฏิสังขรณ์มาแล้วหลายครั้ง และมีหลักฐานว่ามีการปฏิสังขรณ์ในสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

พระปรางค์องค์ใหญ่ที่อยู่ตรงกลางวัด ก่อด้วยศิลาแลงโบกปูน มีลวดลายเกี่ยวกับพุทธประวัติ ส่วนโคปุระเป็นศิลปะแบบขอมที่คาดว่าสร้างในพุทธศตวรรษที่ 16-18 มีลักษณะเป็นเจย์ดีสามองค์ โดยมีพระปรางค์องค์เล็กขนาบข้างในทิศเหนือและทิศใต้ การปฏิสังขรณ์ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงโปรดให้สร้างเจดีย์ระเบียงคดและวิหารหลวงเพิ่มเข้ามา บนพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ของวัดนี้จึงมีสถาปัตยกรรมและประติมากรรมที่หลากหลายตามความนิยมของแต่ละยุคสมัย และกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นโบราณสถาน ในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2497








กำลังโหลดความคิดเห็น