xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป) อช.ทับลานระดมอาสาสมัคร-ชาวบ้านผลักดันช้างป่ากว่า 60 ตัวออกจากพื้นที่ทำกิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - อุทยานแห่งชาติทับลานระดมกำลังเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครฯ และชาวบ้านกระจายกำลังผลักดันช้างป่าทับลานรวมโขลงกว่า 60 ตัวออกจากพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน หลังยึดป่าติดที่ทำกินชาวบ้านเป็นแหล่งอาศัยออกลูกหลานเพิ่มจำนวนต่อเนื่อง



วันนี้ ( 25 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อุทยานแห่งชาติทับลานเปิดเผยภาพภารกิจผลักดันช้างป่าโขลงใหญ่จำนวนกว่า 60 ตัว ที่ออกมาหากินผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลจระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา บริเวณช่วงระหว่างรอยต่อของป่าเขาประดู่และป่าเขาแกลบ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่อยู่ติดกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของช้างป่า เนื่องจากมีป่าอนุรักษ์อยู่คั่นกลางระหว่างพื้นที่ทำกินของชาวบ้านและเขตป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน ช้างจึงสามารถเข้ามาพักอาศัยระหว่างออกมาหากินโดยที่ไม่ต้องกลับเข้าสู่ป่าใหญ่อย่างอุทยานแห่งชาติทับลาน ทำให้เกิดการรวมโขลงช้างป่าจนเกิดเป็นโขลงใหญ่มากขึ้นต่อเนื่อง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 66 นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่บูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอครบุรี ผู้นำชุมชน และอาสาสมัครกลุ่มอนุรักษ์ช้างป่าและชาวบ้านในพื้นที่หลายสิบนาย กระจายกำลังผลักดันช้างป่าโขลงนี้อย่างเต็มกำลัง แต่ด้วยปัญหาทางด้านสภาพภูมิประเทศที่อยู่คั่นกลางระหว่างพื้นที่ป่าและพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน จึงทำให้ช้างเกิดความหวาดระแวง

ประกอบกับช้างป่าโขลงนี้มีลูกช้างอยู่เกือบครึ่ง ทำให้การผลักดันช้างออกจากป่าที่ใช้หลบซ่อนทำได้ลำบาก ปฏิบัติการผลักดันช้างป่าครั้งนี้จึงสามารถผลักดันช้างออกจากพื้นที่ได้ไม่ถึงครึ่ง และยังคงมีช้างหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่เดิมไม่น้อยกว่า 40 ตัว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่และชาวบ้านก็จะยังคงพยายามเฝ้าระวังผลักดันช้างโขลงนี้อย่างต่อเนื่อง


นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยว่า ช้างป่าโขลงนี้เป็นช้างป่าที่มีการรวมโขลงใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าตอนนี้น่าจะมีไม่ต่ำกว่า 100 ตัว กระจายออกหากินทั้งในเขตป่าอนุรักษ์และพื้นที่ทำกินของชาวบ้านฝั่ง ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี และพื้นที่ ต.อุดมทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว เนื่องจากมีความเหมาะสมทั้งในส่วนของพืชอาหารและที่หลบซ่อน เนื่องจากมีป่าอนุรักษ์จำนวนกว่า 3,000 ไร่อยู่คั่นกลางระหว่างพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่มีพืชอาหารหลากหลาย และป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน

ช้างจึงสามารถเข้าไปหลบซ่อนอยู่อาศัยโดยไม่ต้องเดินกลับเข้าไปในป่าอุทยานแห่งชาติทับลานที่อยู่ไกลกว่า เพื่อความสะดวกในการออกหากิน จึงทำให้เกิดการรวมโขลงกันเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และเกิดเป็นปัญหาเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย


ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องของช้างป่าออกมาหากินนอกเขตป่าอนุรักษ์ขณะนี้ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันช้างป่ามีการเพิ่มจำนวนอย่างมากและมีอัตราการรอดสูง เพราะแทบจะไม่มีปัจจัยการคุกคามจากผู้ล่าหรือสภาพแวดล้อม รวมถึงมนุษย์ เนื่องจากเป็นสัตว์อนุรักษ์ที่สำคัญของประเทศ ยิ่งทำให้ส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนประชากรอย่างมาก ล่าสุดคาดว่าเฉพาะพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานมีช้างป่าอยู่ไม่น้อยกว่า 450 ตัว กระจายกันอยู่ทั้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และฝั่งพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี

ส่วนใหญ่จะรู้จักแหล่งอาหารใหม่อย่างพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านที่การทำการเกษตรส่วนใหญ่เป็นพืชที่ช้างชื่นชอบ


จึงดึงดูดให้ช้างออกจากป่ามาหากินผลผลิตพวกนี้เพิ่มมากขึ้นจนเกิดเป็นพฤติกรรมความเคยชินของช้างมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต่อจากนี้ไปการแก้ไขปัญหานอกจากจะเป็นการเฝ้าระวังผลักดันแล้ว การจำกัดจำนวนการเพิ่มประชากรของช้างก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรนำมาดำเนินการในระดับนโยบายรัฐ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและยั่งยืน รวมไปถึงการขอความช่วยเหลือสนับสนุนการแก้ไขปัญหาจากต่างชาติ ที่บอกว่าช้างป่าเอเชีย เป็นช้างหายากและควรที่จะเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น

ซึ่งการส่งช้างป่าไปเป็นทูตสัมพันธไมตรี เหมือนที่ต่างประเทศทำ การส่งหมีแพนด้าจากจีนมาไทย ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้เกิดความร่วมมือในการช่วยเหลือสนับสนุนการแก้ไขปัญหาช้างป่าในประเทศไทยต่อไปในอนาคตได้


กำลังโหลดความคิดเห็น