สุรินทร์-เผยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมผลักดันอาชีพเลี้ยงไหมให้มีรายได้ที่มั่นคง ตั้งเป้าระบบผลิตและพัฒนาคุณภาพเป็นฟาร์มอัจฉริยะ พัฒนาตั้งแต่การจัดการระบบน้ำในแปลงหม่อน ไปจนถึงการติดตั้งอุปกรณ์ IOT ในโรงเลี้ยงไหม และเก็บข้อมูลทั้งหมดเป็นบิ๊กดาต้า เพื่อใช้ในการวางแผนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในรุ่นถัดๆไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ที่โรงเรียนบ้านปราสาท ต.ท่าตูม อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ นายคุณากร ปรีชาชนะชัย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการ KICK OFF โครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยวัคซีนป้องกันโรคเฮโมรายิกเซปทิซิเมียและวัคซีนลัมปีสกิน โดยมี ส่วนราชการและข้าราชการสำนักงานปศุสัตว์ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้นำเกษตรกร เข้าร่วมรณรงค์ พร้อมระดมสมองและวิธีการในการป้องกันโรคที่เกี่ยวกับโค-กระบือ พร้อมกับได้พบปะพี่น้องเกษตรกรเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงหม่อนไหมในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์
นายคุณากร ปรีชาชนะชัย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ก่อนที่จะทำการรณรงค์วันนี้ก่อนหน้าวานนี้ ได้ลงพื้นที่ นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ตนลงพื้นที่ติดตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเชิงบูรณาการ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สุรินทร์ มีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ส่วนจังหวัดให้การต้อนรับ
มีกิจกรรมที่ ศาลากลางหมู่บ้านหนองยาว หมู่ 7 ต.กระหาด อ.จอมพระ และ วัดโพธิ์ศรีสว่าง (บ้านปรีง) หมู่ 11 ต.บะ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพบปะเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการดำเนินงานด้านหม่อนไหม และผลักดันให้มีเกษตรกรสนใจปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่เรียนรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมพร้อมพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยกับปัจจุบัน เนื่องจากผลิตภัณฑ์หม่อนไหมของไทยมีตลาดพร้อมรับซื้อ แต่การผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ซึ่งหากผลิตได้เพียงพอเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
จากนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ของรัฐบาล นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กรมหม่อนไหมภายใต้การนำของ รมช.ไชยา พรหมมา ยังเตรียมยกระดับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในประเทศไทย ซึ่งตนเน้นย้ำในเรื่องการเพิ่มโอกาสให้แก่เกษตรกร เน้นในเรื่องเกษตรต้นน้ำ ส่งเสริมให้เกษตรกรรุ่นใหม่หันมาสนใจเกษตรกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมากขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิตทั้งในแง่ปริมาณและแง่คุณภาพที่ตอบโจทย์ตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยทางกรมหม่อนไหมจะนำนวัตกรรมอย่าง ฟาร์มอัจฉริยะ(Smart Automated Farming System) ตั้งแต่การจัดการระบบน้ำในแปลงหม่อน ไปจนถึงการติดตั้งอุปกรณ์ IOT ในโรงเลี้ยงไหม และเก็บข้อมูลทั้งหมดเป็นบิ๊กดาต้า (Big Data) เพื่อใช้ในการวางแผนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในรุ่นถัดๆไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
นายคุณากร กล่าวต่อว่า โดยในปีแรกจะเป็นการทดสอบระบบที่ศูนย์หม่อนไหม 21 ศูนย์ทั่วประเทศและเกษตรกรนำร่อง ตั้งแต่ปีที่ 2 เป็นต้นไปจะเป็นการวางระบบให้เกษตรกรหม่อนไหมได้ใช้งานจริง เป้าหมายเบื้องต้น คือ 1.) ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตต่อรุ่นได้มากขึ้นอย่างน้อย 30% 2.) เพิ่มเกษตรกรที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นรายได้หลัก 1,000 ครัวเรือน 3.) ผลิตไหมได้ตามความต้องการของตลาดภายในประเทศ ที่มีความต้องการอยู่ 10,000 ตัน/ปี ได้ ทั้งนี้ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จะไม่ใช่แค่รายได้เสริมอีกต่อไป
แต่จะเป็นการสร้างรายได้หลักอย่างยั่งยืน และการยกระดับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในครั้งนี้จะสามารถเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรรมประเภทอื่นๆต่อไป