กาญจนบุรี - "สุรพงษ์ กองจันทึก" ปธ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยื่น 7 ข้อเสนอถึงรัฐ เพื่อคุ้มครองและแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล
วันนี้ (18 ธ.ค.) นายสุรพงษ์ กองจันทึก ในฐานะ ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า วันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี ถือเป็น “วันแรงงานข้ามชาติสากล” (International Migrants Day) เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990 เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆ ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิเป็นแรงงาน ด้วยหลักการที่จะให้ทุกประเทศและทุกฝ่ายตระหนักถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่ต้องอพยพจากประเทศต้นทางไปทำงานยังประเทศปลายทางให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมจากรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว และเพศสภาพใด ๆ
ดังนั้นตนเองในในฐานะ ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงมีข้อเสนอไปถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองและแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล 7 ข้อ ดังนี้ 1.รัฐต้องจัดให้มีการจดทะเบียนและการขอขึ้นใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติอย่างทั่วถึง เข้าถึง และเป็นธรรม โดยเปิดให้จดทะเบียนผ่อนผันทุกปีและตลอดทั้งปี จัดให้มีแบบขอจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามในเอกสารชุดเดียวกันและมีคำแปลในภาษาของแรงงานข้ามชาติ จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One-stop service)ที่แท้จริง กล่าวคือ จดทะเบียน ตรวจโรค และขอใบอนุญาตทำงานในสถานที่เดียวกัน สามารถออกบัตรประจำตัวและใบอนุญาตทำงานภายในหนึ่งวัน อีกทั้งกำหนดให้นายจ้างเป็นผู้ออกค่าคำขอและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน
2. รัฐต้องให้การพิสูจน์สัญชาติของแรงงานข้ามชาติเป็นการพิสูจน์สัญชาติที่แท้จริง ทั่วถึงและปลอดภัย โดยเจรจาและทำข้อตกลงกับรัฐบาลประเทศต้นทางในเรื่องการพิสูจน์สัญชาติ ที่คำนึงถึงความปลอดภัยและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รับรองความเป็นพลเมือง โดยเพิ่มชื่อในระบบทะเบียนราษฎร ออกบัตรประจำตัวประชาชน และรับรองสิทธิพลเมืองตามกฎหมาย ตลอดจนการพิสูจน์สัญชาติผู้ติดตามทุกคน
3.รัฐต้องแก้ไขกฎหมายให้เกณฑ์อายุขั้นต่ำของแรงงานเป็น 18 ปี พร้อมทั้งป้องกันและปราบปรามการใช้ แรงงานเด็กอย่างจริงจัง โดยยกเลิกกฎกระทรวงที่อนุญาตให้มีการใช้แรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีได้ในบางกิจการ และแก้ไขกฎหมายให้เกณฑ์อายุขั้นต่ำสุดของแรงงานคือ 18 ปี รวมถึงมีมาตรการอย่างเข้มงวดต่อเรื่องแรงงานเด็กและการละเมิดสิทธิเด็ก
4. รัฐต้องจัดการการศึกษาให้แก่ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่เป็นเด็กและต้องคุ้มครองสิทธิเด็ก โดยรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และทำให้การศึกษาถ้วนหน้าโดยไม่เลือกปฏิบัติเป็นจริง ให้นักเรียนสามารถเดินทางไปเรียนหนังสือได้อย่างปลอดภัยไม่ถูกจับ จัดให้มีหลักสูตรที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม สังคม และเอกลักษ์ณของเด็ก
5.รัฐต้องขจัด ขบวนการนำพา ขบวนการนายหน้า และขบวนการค้ามนุษย์ในแรงงานข้ามชาติ โดยเอาจริงเอาจังกับการตรวจสอบ ป้องกันปราบปราม และลงโทษ นายหน้า ผู้ประกอบการ ผู้สนับสนุน และเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ตลอดจนขจัดช่องทางที่ทำให้เกิดกระบวนการนายหน้าในการจดทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติ
6. รัฐต้องจัดให้แรงงานข้ามชาติ เปลี่ยนย้ายงานย้ายนายจ้างและเลือกทำงานอย่างเสรี โดยความสมัครใจของลูกจ้างและนายจ้าง
และ 7. รัฐต้องรับรอง คุ้มครอง และทำให้เป็นจริง ในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิขั้นพื้นฐาน และสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของแรงงานข้ามชาติ โดยรณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานและ กระบวนการยุติธรรมแก่แรงงานข้ามชาติ ส่งเสริมสนับสนุนกลไกคุ้มครองสิทธิและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ตลอดจนให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิอาศัยชั่วคราวในระหว่างการเรียกร้องสิทธิและระหว่างกระบวนการยุติธรรม