สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ขอให้ อย. ตรวจเข้มสารเร่งเนื้อแดงในหมูทุกจุดจำหน่าย หวั่นผู้บริโภคได้รับอันตรายจากหมูเถื่อนที่ยังกระจายอยู่ทั่วไทย
นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ รองเลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา เผยถึงสถานการณ์การสืบสวนสอบสวนและปราบปรามหมูเถื่อนที่กำลังเข้มข้นอยู่ในขณะนี้ทำให้ทราบว่าตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา มีการลักลอบนำหมูเถื่อนเข้ามาแล้วกว่า 2,385 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยเข้ามาปะปนอยู่ในห้องเย็นและท้องตลาดของไทยเป็นจำนวนมากหลายหมื่นตันในสภาพหมูแช่แข็ง ไม่ใช่มีเพียง 161 ตู้คอนเทนเนอร์ที่จับกุมได้ ณ แหลมฉบังเท่านั้น
ทั้งนี้ เชื่อว่าหมูเหล่านั้นกระจายวางขายให้ผู้บริโภคไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ และปัจจุบันมันยังไม่หมดไป โดยยังคงมีวางจำหน่ายแทรกอยู่ตามท้องตลาดทั่วไทย หรือรอเวลาเล็ดลอดออกมาขาย
สิ่งที่เป็นอันตรายที่สุดสำหรับผู้บริโภคคือสารตกค้างในเนื้อหมูเถื่อนเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สารเร่งเนื้อแดง” เนื่องจากหมูเถื่อนส่วนใหญ่เป็นหมูลักลอบนำเข้าจากประเทศแถบอเมริกาใต้ ซึ่งมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงได้อย่างเสรี เพื่อหวังผลด้านลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรในประเทศ ขณะที่ประเทศไทยไม่อนุญาตให้ใช้สารดังกล่าวเพราะความห่วงใยในผู้บริโภคเป็นสำคัญ ด้วยสารเร่งเนื้อแดงมีผลกระตุ้นหัวใจให้ทำงานหนัก เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน
“ในฐานะเกษตรกรซึ่งเป็นผู้บริโภคด้วย จึงอยากขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ปูพรมตรวจสารเร่งเนื้อแดงในทุกจุดจำหน่ายเนื้อหมูทั่วประเทศ ตรวจให้หมดทั้งแผงหมูสดในตลาด ร้านขายหมูติดแอร์ หรือแม้แต่ซูเปอร์มาร์เกตต่างๆ เพื่อความปลอดภัยและความสบายใจของผู้บริโภคในการบริโภคเนื้อหมู ตลอดจนเพื่อสุขอนามัยที่ดีของประชาชนคนไทยลดโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว ถือว่าเป็นการป้องกันก่อนรัฐต้องเสียงบประมาณในการรักษาอาการเจ็บป่วยของประชาชนที่จะตามมาอีกมากหากปล่อยให้รับประทานสารเร่งเนื้อแดงจากหมูเถื่อนกันทั้งประเทศ” น.สพ.วรวุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ หมูเถื่อนแช่แข็งสามารถเก็บในห้องเย็นได้นาน 1 ปี จากใบขนสินค้าเข้าราชอาณาจักรไทยจำนวนมาก เมื่อเทียบกับจำนวนที่จับได้ นับว่ายังมีหมูเถื่อนเหลือรอดจากการถูกจับกุมอีกจำนวนมหาศาล ซึ่งหากมีการขนย้ายไปยังแหล่งจำหน่ายได้แล้ว เช่น ตลาดหรือร้านอาหาร ก็ยากมากที่ประชาชนจะสังเกตเห็นหรือแยกได้ว่าชิ้นใดเป็นหมูเถื่อน ชิ้นไหนเป็นหมูไทย ขณะที่หมูเถื่อนเก็บมานานกว่า 1 ปี ยังมีโอกาสขึ้นราและหมดอายุด้วย จึงจำเป็นต้องอาศัยการตรวจสอบจาก อย.
สำหรับสารเร่งเนื้อแดงเป็นสารในกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจ ขยายหลอดลม สลายไขมัน เพิ่มระดับกลูโคสในเส้นเลือด เป็นตัวยาสำคัญที่ใช้ยาบรรเทาโรคหอบหืดของมนุษย์ แต่การที่นำมาใช้เลี้ยงสัตว์และเกิดตกค้างในเนื้อสัตว์ที่ผู้บริโภครับประทานเข้าไป จึงมีผลต่อการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อหลอดเลือด หลอดลม กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น เป็นอันตรายมากสำหรับหญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไฮเปอร์ไทรอยด์