xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป) เผยภาพครั้งแรก! ปฏิบัติการ “น็อก-ดึงดำลอด” ช่วย 13 หมูป่าฯ ติดถ้ำหลวง พร้อมเปิดอุทยานฯ รับลมหนาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - เปิดให้เห็นเต็มตาเป็นครั้งแรก พร้อมงาน "ท่องเที่ยวอุทยานรับลมหนาว" 15 ธันวาฯนี้..สภาพโถงถ้ำหลวง ลึกเกือบถึงสามแยกกลางถ้ำ-เนินหินพัทยาบีช หลังปฏิบัติการกู้ภัยบรรลือโลก “น็อก-ดึงดำลอด” ช่วย 13 หมูป่าอะคาเดมี ที่ผ่านมาร่วมครึ่งทศวรรษ ทั้งสลิง-ถังออกซิเจน-กองอำนวยการกลางถ้ำ อยู่ครบ


แม้หลายคนจะเคยเห็น..ปฏิบัติการกู้ภัยบรรลือโลก-ช่วย 13 หมูป่าอะคาเดมีติดถ้ำหลวง กลางปี 2561 บนแผ่นฟิล์ม กันมาแล้ว แต่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะได้เห็น “โถงถ้ำหลวง” จากถ้ำโถงแรก ลึกเข้าไปถึงโถง 2-3 ก่อนไปถึงสามแยกกลางถ้ำ-พัทยาบีช และจุดพบทีมหมูป่าฯ ทั้ง 13 ชีวิต ที่อยู่ลึกเข้าไปจากปากถ้ำ 2.315 กม.

ล่าสุดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระหว่างเตรียมความพร้อมจัดงาน "ท่องเที่ยวอุทยานรับลมหนาว" ในวันที่ 15 ธ.ค. 2566 อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ภายใต้นโยบาย Thailand Winter Festival ของรัฐบาล ได้เผยแพร่ภาพภายในถ้ำหลวงให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก

เป็นภาพถ้ำหลวง ตั้งแต่โถงปากถ้ำที่นักท่องเที่ยวทั่วไปได้พบเห็นเมื่อไปเยือนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงฯ นอกจากนี้ยังมีภาพภายในโถงถ้ำที่ 1 ที่ลึกประมาณ 200 เมตร ถึงโถงถ้ำที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่ลึกประมาณ 693 เมตร 715 เมตร (ตามลำดับ)

จากโถงถ้ำที่ 3 ลึกเข้าไปจนถึงบริเวณจุดที่เรียกว่า “สามแยกถ้ำหลวง” มีความยาวถึงประมาณ 1.6 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่ได้มีการเผยแพร่ภาพให้เห็นถึงการวางเชือกสลิงตามซอกถ้ำตั้งแต่โถงที่ 2 ไปจนถึงสามแยก ซึ่งมีการวางถังออกซิเจนสำรองและถังที่ใช้เพื่อการลำเลียงเยาวชนทีมหมูป่าฯ ทั้ง 13 คนจากจุดพบตัวให้ออกมายังปากถ้ำ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้แสดงแผนผังถัดจากสามแยกไปยังเนินหินซึ่งเรียกว่าพัทยาบีชลึกเข้าไป 2.05 กิโลเมตร และจุดที่พบเยาวชนทั้ง 13 คน ลึกประมาณ 2.315 กิโลเมตรอีกด้วย





นายจอร์ช มอริส ผู้ก่อตั้งทีม CMRCA ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเยาวชนทั้ง 13 คนในถ้ำหลวงเมื่อกลางปี 61 กล่าวว่า นักท่องเที่ยวที่ไปวันงานจะมีโอกาสเข้าไปในถ้ำหลวงเพื่อดูเป็นจุดสำคัญของปฏิบัติการคราวนั้น ตั้งแต่โถงปากถ้ำจะได้เห็นการวัดระดับน้ำ-ระบบสูบหรือปั๊มน้ำว่าเป็นอย่างไร เมื่อถึงโถงที่ 2 ก็จะเริ่มเห็นการวางเชือกสลิง ถัดไปอีกเพียงเล็กน้อยก็จะถึงโถงที่ 3 ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองอำนวยการในถ้ำที่เคยมีหลากหลายหน่วยงานเข้าประจำการอยู่

และเมื่อถัดจากจุดนี้เข้าไปก็จะเป็นจุดที่เริ่มมีการดำน้ำกู้ชีวิต 13 หมูป่าอะคาเดมี ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ซับซ้อน ทั้งระทึก-โศกสลด กับ “ปฏิบัติการ น็อก-ดึงดำลอด จนช่วยทีมหมูป่าฯออกจากถ้ำได้อย่างปลอดภัยในที่สุด

สำหรับปฏิบัติการเยาวชนทีมหมูป่าฯทั้ง 13 คนดังกล่าว เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.-10 ก.ค. 2561 ท่ามกลางสภาพถ้ำหลวงที่มีน้ำท่วมเต็มโถงน้ำ ช่องทางที่ทั้งแคบ คดเคี้ยว และเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยที่แหลมคม


ปฏิบัติการนำ 13 หมูป่าฯ ออกมาจุดพบตัวเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 ก.ค. โดยให้ทั้งหมดสวมชุดดำน้ำเว็ตสูทอย่างหนา-ไดรฟ์สูทที่สามารถป้องกันความเย็นของน้ำแบบครอบใบหน้า-Full Face ต่อถังอากาศให้ด้วย จากนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการน็อกป้องกันการแตกตื่น ก่อนใช้เชือกมัดแต่ละคน เพื่อลากดึงดำน้ำลอดถ้ำ โดยมีนักประดาน้ำ 2-3 คนดูแลหน้าหลัง

การดึงลาก 13 หมูป่าฯ ออกจากถ้ำหลวง ต้องผ่านกระแสน้ำและอุปสรรคต่างๆ ดังกล่าว จึงมีการติดตั้งเชือกสลิงตลอดทางตั้งแต่จุดพบตัวจนมาถึงโถงถ้ำที่ 3 เมื่อพ้นระยะดำน้ำก็จะใช้เปลหามแต่ละคนออกไปยังปากถ้ำ

ปฏิบัติการคราวนั้น ทั้ง 13 หมูป่าอะคาเดมีฟื้นตัวเมื่อถึงปากถ้ำเกือบทุกคน มีเพียง 1 คนที่ต้องนอนเปลไปจนถึงโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ แต่ก็รู้สึกตัวดีโดยตลอด


ในวันเปิดงาน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปในถ้ำหลวงได้ถึงโถงที่ 2 หรือ 3 ครั้งละ 10 คน โดยจะมีผู้นำและอธิบายไปด้วยอย่างน้อย 2 คน ภายในยังจัดให้ชมภาพเหตุการณ์และภาพวาดที่เก็บเอาไว้ในอาคารอนุสรณ์สถานซึ่งสร้างโดยศิลปินชาวเชียงราย และหน้าอาคารมีอนุสาวรีย์นาวาตรี สมาน กุนัน หรือจ่าแซม ผู้เสียสละชีวิตในปฏิบัติการดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับปฏิบัติการทั้งหมด และยังมีนิทรรศการแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 77 จังหวัดของไทยด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น