xs
xsm
sm
md
lg

แนะทางรอดผู้เลี้ยงปลากะพงหลังราคาดิ่ง ปรับวิธีดูแลน้ำเลี้ยงแบบผสมผสานคู่ทำนาข้าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา - เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงใน จ.ฉะเชิงเทรา แนะทางรอดเกษตรกรหลังปลากะพงขาวราคาถูกจากมาเลเซียเข้าตีตลาดจนกดราคาขายเหลือเพียง  70 บาทต่อ กก. ต้องปรับวิธีเลี้ยงเป็นแบบผสมผสานคู่การทำนาข้าว ได้ทั้งรักษาน้ำช่วงหน้าแล้ง ลดต้นทุนปุ๋ยเคมี สุดท้ายได้ผลดีทั้ง 2 ทาง

จากปัญหาปลากะพงขาวราคาตกต่ำอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หลังมีการนำเข้าปลากะพงขาวราคาถูกจากประเทศมาเลเซีย เข้ามาตีตลาดด้วยการตัดราคาขายเหลือเพียงกิโลกรัมละ 70 บาท จากเดิมที่เคยขายได้ราคาสูงสุดถึงกิโลกรัมละ 120 บาท จนทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ที่มีมากเกือบ 3 พันรายจนกลายเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลากะพงลำดับต้นๆ ของประเทศได้รับผลกระทบ

อีกทั้งยังต้องปัญหาขาดทุนจากต้นทุนการผลิตที่สูงถึง 75-80 บาทต่อปลา 1 กิโลกรัมทั้งจากราคาอาหารปลาสำเร็จรูป และพลังงานไฟฟ้าที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านนั้น

วันนี้ (22 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายนิพิฐพนธ์ นาคสมบูรณ์ อายุ 64 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวบ่อดินใน ต.บางกะไห อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ถึงแนวทางการเอาตัวรอดในภาวะวิกฤตราคาปลากะพงตกต่ำของตนว่า เริ่มจากการปรับวิธีการเลี้ยงปลาเพียงอย่างเดียวสู่การเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน และใช้ระบบหมุนเวียนน้ำจากบ่อเลี้ยงปลากะพงแปลงนาข้าว

และยังสามารถนำน้ำจากนาข้าวหมุนเวียนเข้ามาเก็บไว้ในบ่อพักน้ำเพื่อหมุนเวียนกลับมาใช้ในบ่อเลี้ยงปลากะพงอีกครั้ง ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะทำให้น้ำในบ่อเลี้ยงปลามีคุณภาพดีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะส่งผลให้ปลาเติบโตเร็วและไม่ป่วยเป็นโรคได้ง่าย อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนค่าอาหาร และค่าเคมีบำบัดน้ำในการเลี้ยงปลา และยังช่วยให้ผลผลิตในนาข้าวดีขึ้นด้วย


นายนิพิฐพนธ์ ยังเผยอีกว่า หลังจากตนปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงปลากกะพง ทำให้การทำนาปรังในรอบปีก่อนได้ผลผลิตมากถึง 125 ถังต่อไร่ จากเดิมที่ทำได้เพียง 106 ถังต่อไร่ และยังสามารถขายได้ในราคาตันละ 10,800 บาท และการจัดทำบ่อพักน้ำในเนื้อที่ 2 ไร่ เพื่อดูแลปลากะพง 3 บ่อใหญ่ที่มีเนื้อที่รวม 6 ไร่ ยังช่วยให้สามารถรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่มีการคาดการณ์กันว่าในปีนี้จะแล้งยาวนานจากปรากฏการณ์เอลนีโญอีกด้วย  

"หากเกษตรกรทำนาเพียงด้านเดียวอาจจะต้องทิ้งน้ำเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว จึงอยากแนะนำให้เกษตรกรรายอื่นๆ เร่งทำการจัดสรรพื้นที่สำหรับทำเป็นบ่อเก็บพักน้ำและบ่อเลี้ยงปลา เพื่อให้คุ้มค่ากับการใช้น้ำ เพราะหลังจากนี้ในช่วงเดือน ม.ค.ของทุกปีน้ำในคลองสาธารณะในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา จะเริ่มแห้งลง แต่เมื่อเรามีบ่อพักน้ำ และมีแปลงนาสำหรับบำบัดน้ำจะทำให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด"

ที่สำคัญยังสามารถนำเอาสารอาหาร สารอินทรีย์และแพลงก์ตอนจากบ่อเลี้ยงปลาถ่ายเวียนขึ้นไปเป็นปุ๋ยให้นาข้าว ลดการใช้ปุ๋ยและยังเป็นการบำบัดน้ำจากบ่อเลี้ยงปลาได้ไปในตัว


ขณะที่เทคนิคการเลือกช่วงเวลาในการเลี้ยงปลาถือว่ามีส่วนสำคัญและหากเกษตรกรต้องการที่จะเลี้ยงปลาให้ขายได้ราคาสูง ต้องเลือกลงลูกปลาเลี้ยงในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้เลี้ยงปลากะพงบ่อดินส่วนใหญ่จะขาดน้ำในการเลี้ยงเพราะเป็นช่วงฤดูแล้ง ทำให้ไม่มีคนเลี้ยงหรือเลี้ยงกันน้อยลง

โดยปลาจะจับขายได้ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่ปลาในตลาดมีไม่มากจึงทำให้สามารถขายปลาได้ราคาดี






กำลังโหลดความคิดเห็น