กาญจนบุรี - “ดร.ปริญญา” ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีศาสตร์ เผยรอยเลื่อนที่ด่านเจดีย์สามองค์ เกิดแผ่นดินไหวต่อปีนับร้อยครั้ง แต่ประชาชนไม่รู้สึกตัว ยันเกิดขนาด 4 ที่ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี ไม่กระทบเขื่อนยักษ์กาญจน์
จากกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 4 แมกนิจูด ที่ความลึก 6 กิโลเมตร จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ละติจูด 15.185 องศาเหนือ ลองจิจูด 98.404 องศาตะวันออก ระยะห่างจากเขื่อนเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 48 กม. เขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 116 กม.โดยกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่า สาเหตุนั้นเกิดจากการเลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเวลา 03.07 น.ของวันที่ 19 พ.ย.66 ที่ผ่านมา ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด วันนี้ (20 พ.ย.) ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีศาสตร์ และที่ปรึกษารองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวขนาด 3-5 คงเกิดได้เป็นครั้งคราว ไม่หายไปไหน โดยเฉพาะบริเวณแนวรอยเลื่อนแขนง กลุ่มหรือโซนรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นที่ ต.หนองลู อ.สังขละบุรีนั้น เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ปลายแนวร่องรอยเลื่อนเจดีสามองค์ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ไปทางต้นน้ำแควน้อย อ.สังขละบุรี ก่อนถึงแนวเขตแดนไทย-พม่า คาดว่ามีระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตรเศษ
โดยเส้นทางน้ำช่วงบ้านหนองลู เป็นแนวเส้นตรง ซึ่งในทางธรณีวิทยาเราแปลความหมายว่าเป็นแนวรอยเลื่อนซึ่งหินแตกหักมาก บางส่วนถูกบดและแตกเป็นก้อนเล็กจึงถูกกร่อนและผุพังได้เร็วกว่าส่วนอื่น เป็นแนวที่น้ำกัดเซาะและแนวบังคับการไหลของทางน้ำ และจากการตรวจภาพมุมสูงจะเห็นริ้วรอยแตกตรงเป็นช่วงๆ แต่ละช่วงยาวบ้างสั้นบ้าง แสดงว่าโซนรอยเลื่อนแยกกันเป็นระยะๆ ขนาดความยาวของรอยเลื่อนต่างกัน เมื่อเคลื่อนตัวมีผลต่อความรุนแรงคลื่นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นต่างกัน แรงที่สามารถทำให้เกิดการแตกหักของหินจึงไม่เท่ากัน
ซึ่งโครงสร้างรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ถูกขนาบด้วยรอยเลื่อนสกายแนวเหนือใต้ในประเทศพม่า และรอยเลื่อนระนองที่พาดขึ้นมาด้านตะวันออกในอ่าวไทย ทำให้รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ขยับตัวได้น้อย ดังนั้นโอกาสที่จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงแบบในยูนนาน เสฉวน ด้านเหนือของประเทศจีน และส่วนบนของประเทศพม่า และแถบเนปาลเป็นไปได้น้อยมาก
สำหรับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ถือว่า “เป็นเรื่องปกติ เพราะที่ผ่านมาพบว่า รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์เกิดแผ่นดินไหวขึ้นนับร้อยครั้งต่อปี แต่ประชาชนไม่รู้สึกว่าเกิดแผ่นดินไหวเท่านั้นเอง แต่ครั้งนี้เกิดขึ้นค่อนข้างแรง จึงทำให้ประชาชนรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน ส่วนความกังวลว่าแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์หรือไม่นั้น ผมมั่นใจเป็นอย่างมากว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อเขื่อนทั้ง 2 แห่งอย่างแน่นอน
ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล กล่าวว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมาผมได้ศึกษาค้นคว้ารอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ พบว่า รอยเลื่อนแผ่นดินไหวนั้นใหญ่มากครอบคลุมไปทั้งทวีปอินเดีย ออสเตรเลีย มันเชื่อมกันอยู่เพราะข้างล่างมันเป็นแผ่น มันไม่ใช่รอยแยกแบบที่เราเห็นเป็นรอยเล็กๆ เหมือนรอยเลื่อนในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี
เช่น รอยเลื่อนบริเวณเกาะไอซ์แลนด์ แผ่นดินมันจะแยกกันกลางมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ทะเลลงไปประมาณ 3-4 กิโลเมตร มันจะมีรอยแยกใต้พื้น ซึ่งแตกต่างกับรอยแยกของบ้านเราที่เป็นรอยเลื่อนธรรมดา ไม่ใช่รอยเลื่อนที่จะทำให้มีการเกิดแผ่นดินไหวได้รุนแรงขนาดนั้น
ส่วนที่ใกล้บ้านเราที่สุด และสามารถทำให้แผ่นดินไหวได้ขนาด 8-9 แมกนิจูดคือ รอยตะเข็บระหว่างอินเดีย-ออสเตรเลีย กับยูเรเซีย ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านเราประมาณ 500 กิโลเมตร อยู่ในเกาะอันดามันนิโคบา ที่อยู่ระหว่างชายแดนพม่า กับประเทศอินเดียในทะเลอันดามัน มันเป็นเกาะในแนวเหนือใต้ ซึ่งเป็นเกาะภูเขาไฟ
ส่วนรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้บ้านเราเข้ามาอีกคือ รอยเลื่อนสะเกียง หรือที่พม่าเรียกว่ารอยเลื่อนสะกาย ที่อยู่แนวเหนือใต้ ซึ่งมันอยู่ระหว่างแนวตะเข็บธรณี รอยเลื่อนสะกายเป็นรอยเลื่อนแบบเฉือนเลียบขวา คือ บล็อกที่อยู่ฝั่งตะวันตกมันเลื่อนไปทางซ้าย ส่วนที่อยู่ทางตะวันออกที่อยู่ทางฝั่งบ้านเรา มันเคลื่อนที่ไปด้วยแต่มันเคลื่อนที่ช้ากว่า ที่สำคัญคือ ในรอยเลื่อนสะกายคุณภาพรอยเลื่อนมันเอียงไปทางตะวันตก เพราะฉะนั้นการเกิดแผ่นดินไหวมันจะเกิดไปทางทิศตะวันตก ซึ่งฝั่งตะวันตกเป็นฝั่งประเทศพม่า
ส่วนรอยเลื่อนในประเทศของเราเป็นรอยเลื่อนแขนง ซึ่งไม่น่าเป็นห่วงเท่าทางเหนือโดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ซึ่งน่าเป็นห่วงกว่ารอยเลื่อนที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีมากกว่า เพราะว่าทางเหนือมันไม่มีอะไรกั้น ส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ยังมีมหาสมุทรแปซิฟิกกั้นเอาไว้ อย่างรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ เมื่อหลายปีมันเคยฉีกมาก่อน แต่โอกาสที่จะฉีกรุนแรงนั้นมีน้อยมาก เพราะข้างล่างมันมีรอยเลื่อนระนอง คอยดันเอาไว้ซึ่งเป็นข้อดี
โดยสามารถสังเกตได้ง่ายๆ ว่าในประเทศไทยจะมีบ่อพุน้ำร้อนทั้งหมดประมาณ 95 บ่อ ส่วนทางภาคเหนือบ่อน้ำร้อนจะมีอุณหภูมิความร้อนสูงถึง 80-100 องศา ซึ่งสามารถต้มไข่ให้สุกได้เลย ส่วนทางภาคใต้มีอุณหภูมิสูง 60-80 องศา สำหรับจังหวัดกาญจนบุรีบ่อพุน้ำร้อนที่มีอยู่มีอุณหภูมิความร้อนบวกลบกันแล้วไม่เกิน 40 องศา ซึ่งถือว่าอยู่ในภาวะปกติ ข้อมูลนี้ได้มาจากกรมทรัพย์ฯ โดยอุณหภูมิที่เกิดขึ้นตามบ่อพุน้ำร้อนต่างๆ นั้นมาจากการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งจากการเปรียบเทียบสถิติการเกิดแผ่นดินไหวพบว่าทางภาคเหนือจะเกิดแผ่นดินไหวบ่อยมาก และมีโอกาสสูญเสียอย่างแน่นอน
แต่อย่างไรก็ตาม อยากฝากไปถึงประชาชนว่าขั้นตอนการระวังหลักๆ มีอยู่ 2 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหว จะต้องเก็บภาชนะสิ่งของให้มั่นคงแข็งแรงโดยเฉพาะภาชนะที่แขวนเอาไว้เพื่อโชว์ และขั้นตอนที่ 2 คือขณะเกิดเหตุจะต้องรีบออกมานอกอาคารบ้านเรือนให้เร็วที่สุด แต่หากออกมาไม่ทันให้ก้มหลบตามมุมตึกหรือให้เข้าไปหลบใต้โต๊ะหรือเตียงเพื่อป้องกันสิ่งของหรือภาชนะที่แขวนเอาไว้โชว์ตกหล่นใส่ได้รับบาดเจ็บ
ขอประชาสัมพันธ์ว่าระหว่างวันที่ 9-16 ม.ค.67 ที่จะถึงนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมธรณีวิทยาระหว่างประเทศ จะมีนักธรณีวิทยาจากหลายประเทศทั่วโลกเดินทางมาเข้าร่วมประชุมพร้อมเสนอผลงานทางวิชาการด้านต่างๆ ส่วนหนึ่งของการประชุมจะเป็นการนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหว ดินถล่ม หลุมยุบ การเกิด การศึกษา การเตือนภัย หากภาครัฐ ภาคเอกชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนสนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดใน website ของ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรีได้ตลอดเวลา