xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่นำช่างฟ้อนรุ่นเยาว์ยันรุ่นยาย 727 คนร่วมซ้อมใหญ่เตรียมฟ้อนเทียนบูชาเมืองงานประเพณียี่เป็ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่นำช่างฟ้อนตั้งแต่รุ่นเยาว์ยันรุ่นยาย อายุ 4 ปี ไปจนถึง 80 ปี จำนวน 727 คน เท่าอายุเมืองเชียงใหม่ ร่วมซ้อมใหญ่เหมือนวันจริง เตรียมพร้อมฟ้อนเทียนบูชาเมือง ในกิจกรรม “ต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง” ปีที่ 12 ช่วงงานประเพณียี่เป็งประจำปี 2566


วันนี้ (19 พ.ย. 66) ที่บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ในตัวเมืองเชียงใหม่ เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ พร้อมชุมชนต่างๆ  วัด และสถาบันการศึกษาร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ จัดซ้อมใหญ่การฟ้อนเทียนบูชาเมือง ที่เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม “ต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง” ปีที่ 12 ที่กำหนดที่จะจัดขึ้นในช่วงการจัดงานประเพณียี่เป็งจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี2566 ในวันที่ 25-28 พ.ย. 66 บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ และสี่แจ่งเมือง เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งปีนี้เมืองเชียงใหม่มีอายุครบ 727 ปี จึงได้จัดการฟ้อนเทียนบูชาเมือง โดยมีช่างฟ้อนจำนวน 727 คน เท่ากับอายุเมืองเชียงใหม่ ขณะที่ช่างฟ้อนทั้ง 727 คนนั้นมีอายุตั้งแต่ 4 ขวบ ไปจนถึง 80 ปี ทำการฝึกซ้อมกันเป็นประจำทุกสัปดาห์ต่อเนื่องมานานนับเดือนแล้ว จนกระทั่งมีการซ้อมใหญ่ในครั้งนี้ ที่แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองและฟ้อนกันอย่างพร้อมเพรียงสวยงามบนลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์และบนถนนพระปกเกล้า เสมือนวันจัดงานจริงในวันที่ 25 พ.ย. 66 ท่ามกลางประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ชื่นชมอย่างประทับใจ

สำหรับกิจกรรม “ต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้าฮักษาเมือง” ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 12 ในงานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ โดยในวันที่ 23-24 พ.ย. 66 ที่พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ตรงข้ามพระบรมราชานุสารีย์สามกษัตริย์ ทางเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่จะมีการจัดกิจกรรมให้ชาวบ้านจากชุมชนต่างๆ ในตัวเมืองเชียงใหม่ พร้อมทั้งเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ ช่วยกันใส่ไส้เทียนและเทขี้ผึ้งเพื่อทำผางประทีป หรือ “ผางปะตี๊ด” ในภาษาภาคเหนือ เพื่อจัดเตรียมไว้สำหรับการจัดกิจกรรมในคืนวันที่ 25-28 พ.ย. 66 จะร่วมกันนำไปจุดบริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ พร้อมทั้ง 4 แจ่ง 5 ประตูเมือง และบริเวณโดยรอบคูเมืองด้านใน ให้สว่างไสวสวยงาม ตามประเพณีเก่าแก่และความเชื่อของชาวล้านนาว่า การจุดผางประทีปนี้เป็นการถวายเป็นพุทธบูชา รวมทั้งแสดงความสำนึกบุญคุณและขอขมาสิ่งต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการบูชาแสงสว่างที่เชื่อว่าจะทำให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีแสงสว่างนำทางชีวิตให้โชติช่วงชัชวาลดั่งแสงจากผางประทีป ซึ่งตลอดช่วงการจัดงานยังมีกิจกรรมการเรียนรู้ประดิษฐ์โคม, การประดิษฐ์กระทง, ตัดช่อประดับกระทง และหยอดผางปะตี๊ดอีกด้วย














กำลังโหลดความคิดเห็น