ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - สัตวแพทย์เชี่ยวชาญระดมกำลังรักษา “เดือน” ลูกช้างป่าทับลานหลงโขลงที่โคราช เผยพันขาหลังขวาเพื่อซัปพอร์ตน้ำหนักกระดูกที่แตกหัก สามารถเดินได้ดีขึ้นยืนได้นานขึ้น อาการปวดลดลง พร้อมใช้เครื่องปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อลดปวด อักเสบ ควบคู่กับการรักษาทางยา ทีมสัตวแพทย์ติดตามอาการเฝ้าดูแลลูกช้างต่อเนื่อง
วันนี้ (14 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าอาการของลูกช้างป่าเพศผู้แรกเกิดที่พลัดหลงออกจากโขลง หลังจากออกจากป่าอุทยานแห่งชาติทับลานเข้าไปหากินภายในพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านตลิ่งชัน ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการเคลื่อนย้ายลูกช้างมาทำการรักษาที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ ทล.08 (ตลิ่งชัน) หลังแม่ไม่มารับลูกช้างกลับโขลง ตามที่เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องนั้น
ล่าสุดทางเพจเฟซบุ๊กของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้อัปเดตอาการของลูกช้างตัวดังกล่าว ว่า ทีมสัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกอบด้วย สพ.ญ.พรรณราย ว่องวัฒนกิจ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) และ สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ชำนาญการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานเพื่อติดตามอาการลูกช้างป่า ชื่อ “เดือน” เพศผู้ ช้างวัยเด็ก ที่พบบริเวณท้องที่บ้านตลิ่งชัน ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา
สำหรับข้อมูลอาการลูกช้างป่าและการรักษา มีดังนี้
สะดือที่ยังไม่ปิดสนิท เป็นโพรงแคบลง มีความลึกประมาณ 1 เซนติเมตร มีหนองปริมาณเล็กน้อย ทำการล้างสะดือทุกวัน ภายในช่องปากปกติ ไม่พบแผล การกินนมปกติ การขับถ่ายอุจจาระเป็นครีมเหลวสีเหลือง การขับถ่ายปัสสาวะมีสีเหลืองอ่อน พบความขุ่นเล็กน้อย
ทั้งนี้ ขาที่บาดเจ็บ ทีมสัตวแพทย์ใช้วิธีการพันขาหลังข้างขวาเพื่อซัปพอร์ตน้ำหนักและกระดูกที่แตกหัก พบว่า สามารถเดินได้ดีขึ้น ยืนได้นานขึ้น อาการปวดลดลงแตกต่างจากวันอื่นๆแต่ทั้งนี้พยายามไม่ให้ลูกช้างป่าเดินมากเกินไปเนื่องจากอาจเกิดการบวมอักเสบเพิ่มเติมได้
สำหรับการรักษาทางยา ให้ยารักษา ดังนี้ ยาลดปวด ลดอักเสบ ยาปฏิชีวนะ ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร แคลเซียม วิตามินซี และผงโปรไบโอติกสำหรับกระต่าย ยากินป้องกันท้องอืดสำหรับผสมนม และยาภายนอกสำหรับลดปวด พ่นสเปรย์รักษาแผลภายนอก ส่วนการรักษาอื่นๆ เพิ่มเติม ทีมสัตวแพทย์ทำการใช้เครื่องปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetotherapy Vet) เพื่อทำการลดปวด ลดอักเสบ ควบคู่กับการรักษาทางยา โดยจะทำการใช้เครื่องปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า วันละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 20 นาที ตามโปรแกรมการรักษาที่กำหนดไว้ โดยทีมสัตวแพทย์ ได้ติดตามอาการและเฝ้าดูแลลูกช้างป่าอย่างต่อเนื่อง