xs
xsm
sm
md
lg

ประมงพื้นบ้านแม่กลองยิ้มกันทั่วหน้า ปลาทูชุกชุมหลังปิดอ่าว 4 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมุทรสงคราม - หลังปิดอ่าว 4 เดือน ชาวประมงพื้นบ้านใน จ.สมุทรสงคราม ยิ้มกันทั่วหน้า ออกเรือจับปลาทูได้ตัวงามๆ จำนวนมาก สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ และยังส่งผลดีกับงานเทศกาลกินปลาทู และของดีเมืองแม่กลอง 8-17 ธ.ค.นี้อีกด้วย

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม กล่าวว่า ปลาทูในแง่ของทางการมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ ปลาทูสั้น กับปลาทูยาว คนสมุทรสงครามชอบกินปลาทูสั้น เพราะธรรมชาติปลาทูสั้นจะหากินน้ำตื้น จึงได้รับสารอาหารชนิดดีบริเวณอ่าวชั้นใน ประกอบด้วย ตะกอนสารอาหารต่างๆ ที่ถูกส่งออกมาจากต้นน้ำลำธารสู่ทะเลด้วยกระแสน้ำหลาก สารอาหารและระบบนิเวศปากแม่น้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำแม่กลอง เป็นแม่น้ำที่มีคุณภาพน้ำที่ดีที่สุด ประกอบกับวิธีการจับปลาที่ปราศจากการรุนแรงของเครื่องมือประมงต่างๆ ทำให้รสชาติของปลาทูคงสภาพหรือแปรเปลี่ยนไปไม่มากนัก

สำหรับจังหวัดสมุทรสงคราม ปลาทูมีชื่อเสียงเรื่องความสดมากเพราะจับโดยชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะที่บ้านบางบ่อ บ้านปากมาบ ต.บางแก้ว อ.เมืองสมุทรสงครามเนื่องจากชาวบ้านใช้อวนติดตา และเรืออีป๊าบขนาด 3 วา 2 ศอก เป็นเครื่องมือ ที่เป็นเรืออีป๊าบเนื่องจากจะพอดีกับช่วงคลื่นและมีความคล่องตัวสูงกว่าเรือชนิดอื่นๆ เพราะออกไปห่างจากชายฝั่งไม่มาก วันไหนคลื่นลมสงบจะออกจากฝั่งแต่เช้า ถึงจุดหมายห่างจากฝั่งประมาณ 3-4 กิโลเมตร นำอวนตาขนาด 4 เซนติเมตร ลึก 4 เมตร ยาวประมาณ 600 เมตร ปล่อยลงน้ำล้อมรอบเป้าหมาย แล้วขับเรือวิ่งเป็นวงกลมเพื่อไล่ต้อนฝูงปลาทูเข้าอวนประมาณ 30 นาที จึงนำอวนขึ้น และเมื่อได้ปลาตามความต้องการแล้วจะกลับเข้าบ้านทันที จากนั้นคนที่บ้านจะมาช่วยกันแกะปลาทูออกจากอวนแล้วนำไปขายที่ตลาดปลา

นายมงคล กล่าวอีกว่า ยังมีเครื่องมือประมงเคลื่อนที่อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า “อวนลาก” เป็นการทำประมงแบบพาณิชย์ ปลาทูที่อยู่ในถุงอวนจะถูกทับถมปนกับปลาประเภทอื่นในเวลานานหลายวัน จึงอาจทำให้บางตัวท้องแตก รสชาติความอร่อยและราคาจะลดลงตามคุณภาพและระยะเวลาการดองน้ำแข็งอยู่ได้ไม่นาน การลากปลาแบบนี้ใช้เรือประมงขนาดใหญ่ออกทะเลห่างจากฝั่งนานหลายวัน จึงทำให้ปลาที่จับมาได้นั้นคุณภาพไม่ดีเท่าปลาที่จับได้จากชายฝั่ง ส่วนปลาที่ได้หลายชนิดปนกันมาจะดองน้ำแข็งไว้ในเรือแล้วนำขึ้นมาขายที่ตลาดปลาแม่กลอง เพื่อให้ลูกค้ามาเลือกซื้อ ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าคนกลางมาซื้อไปขายต่อ และโรงงานมารับไปแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม จากมาตรการปิดอ่าวฤดูปลาวางไข่และเลี้ยงตัววัยอ่อนในทะเลอ่าวไทย ตอนใน (อ่าวไทยรูปตัว ก) ของกรมประมงในช่วงวันที่ 15 ก.พ. 2566 ถึงวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา รวม 120 วัน นอกจากจะช่วยกันรักษาพ่อแม่พันธุ์แล้ว ยังทำให้ปลาทูบริเวณปากอ่าวแม่กลองช่วงนี้ชุกชุมมากขึ้น สังเกตจากชาวประมงพื้นบ้านบ้านบางบ่อ และบ้านปากมาบ ต.บางแก้ว มีการนำเรืออีป๊าบออกไปทำประมงวางอวนจับปลาในทะเลกันอย่างคึกคัก ในช่วงน้ำลงวันละ 3-4 ชั่วโมง และปลาที่จับได้ส่วนใหญ่จะเป็นปลาทู ทำให้ชาวประมงยิ้มได้และหายเหนื่อยกันทั่วหน้า

นอกจากปลาทูช่วงนี้จะราคาสูงแล้ว การออกไปวางอวนยังได้ปลาทูกลับมาครั้งละไม่น้อย ขอเตือนและแนะนำชาวประมงที่จะออกไปจับปลาต้องใช้เครื่องมือให้ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น อวนติดตา ถ้าเป็นอวนลอยก็ไม่เป็นไรเพราะเป็นอวนจับปลาทูอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นอวนจมจะไปจับพ่อแม่พันธุ์ปลาก่อนวางไข่ ส่วนอวนลอยจะมีขนาดใหญ่จับปลาได้ครั้งละมากๆ เป็นเรือที่จับปลาทูโดยตรง แต่ปัจจุบันการใช้อวนลอยน้อยลงมาก ปลาทูเลยมีมากขึ้น ส่งผลดีกับงานเทศกาลกินปลาทูและของดีเมืองแม่กลอง ที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 8-17 ธันวาคม 2566 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม เพราะปีนี้ปลาทูนอกจากจะชุกชุมแล้ว ตัวยังค่อนข้างใหญ่น่ารับประทานเป็นปลาทูที่มีคุณภาพนำไปทำเมนูอะไรก็อร่อย ดังนั้น ผู้ที่ชอบรับประทานปลาทูจึงไม่ควรพลาด

ด้านนายนรินทร ไตรญาณ อายุ 36 ปี และนางจำเรียง ไตรญาณ อายุ 62 ปี สองแม่ลูกชาวประมงพื้นบ้าน บ้านบางบ่อ ต.บางแก้ว บอกว่า ช่วงนี้บริเวณปากอ่าวแม่กลองมีปลาทูชุกชุมมาก เพราะมาตรการปิดอ่าวฤดูปลาวางไข่ที่ผ่านมา ประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารและน้ำ ทำให้ชาวประมงพื้นที่บ้านสามารถจับปลาทูตัวใหญ่ขนาด 10-12 ตัวต่อกิโลกรัมได้ครั้งละมากๆ เกือบทุกครั้งที่ออกเรือไปจับปลา และขายได้ราคากิโลกรัมละ 120-170 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดเล็กใหญ่ของปลา สร้างรายได้อย่างงดงาม ส่งผลให้ชาวประมงยิ้มได้และมีความสุขกันทั่วหน้า










กำลังโหลดความคิดเห็น