xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงใน จ.ฉะเชิงเทรา ร้อง "ธรรมนัส" แก้ปัญหานำเข้าปลามาเลเซียทุบตลาดไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา - เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงใน จ.ฉะเชิงเทรา ร้อง "ธรรมนัส" เร่งแก้ปัญหานายทุนนำเข้าปลากะพงขาวราคาถูกจากมาเลเซียตีตลาดปลาไทย เผยสู้ไม่ได้จากปัจจัยการผลิตที่แพงกว่าทั้งราคาอาหารและค่าไฟ ชี้ไม่แก้วันนี้อาจถึงขั้นล่มสลายของผู้เลี้ยงปลาไทย

วันนี้ (11 พ.ย.)​ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรี​ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการ และมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 70 ราย พร้อมรับฟังปัญหาจากเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงปลากะพงขาว ณ ห้องประชุมมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ชั้น 4 ศาลากลาง จ.ฉะเชิงเทรา

ก่อนเดินทางลงพื้นที่ไปติดตามความคืบหน้าสถานีสูบน้ำบางสมบูรณ์ บริเวณรอยต่อระหว่าง อ.องครักษ์ จ.นครนายก และ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา รวมทั้งพบปะเกษตรกรอีก 200 ราย โดยมี นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และนายณัฐพงษ์ สงวนจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

โดย นายนรินทร์ นฤภัย เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงขาวจำนวน 13 บ่อ บนพื้นที่ 60 ไร่ ได้สะท้อนปัญหาของเกษตรกรในฐานะกรรมการบริหารสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทยต่อรัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวงเกษตรฯ ​ว่าขณะนี้กำลังประสบปัญหาราคาปลากะพงตกต่ำ

นายนรินทร์ นฤภัย กรรมการบริหารสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย
จากผลกระทบการนำเข้าปลากะพงขาวจากประเทศมาเลเซีย เข้าตีตลาดไทยในราคาเพียง 70 บาทต่อกิโลกรัม สวนทางกลับราคาขายที่ตลาดหน้าแผงของไทยซึ่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 90-95 บาท จากต้นทุนอาหารและพลังงาน และเมื่อต้องขายในราคาปลานำเข้าทำให้เกษตรกรขาดทุนทันทีกิโลกรัมละ 30 บาท

"ปลาจากประเทศเพื่อนบ้านเริ่มเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยหลังโควิด-19 ระบาด โดยทะลักเข้ามามาก 20-30 ตันต่อวัน และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในปีนี้เนื่องจากเกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้านหันมาเลี้ยงปลาเพิ่มมากขึ้นถึง 3 เท่าตัวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565-2566 จนทำให้มีปลาเข้ามาในประเทศไทยแบบไม่มีขีดจำกัดจนทำให้ปลาล้นตลาด"

และหากสถานการณ์ในอนาคตยังเป็นเช่นนี้อาจทำให้อาชีพเลี้ยงปลากะพงของไทยต้องล่มสลายลงจากการเปลี่ยนอาชีพ หรืออาจต้องขายที่ดินจากการขาดทุนไปใช้หนี้สิน

กรรมการบริหารสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย ยังบอกอีกว่าอาชีพเพาะเลี้ยงปลากะพงขาว ถือเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาว จ.ฉะเชิงเทรา ที่ทำกันมานานตั้งแต่รุ่นพ่อแม่และเคยเป็นแหล่งผลิตปลากกะพงขาวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศมานานหลายสิบปี


โดยปัจจุบัน จ.ฉะเชิงเทรา มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงตามที่แจ้งจดประมาณ 600-700 ราย และส่วนที่ไม่แจ้งจดอีกประมาณ 1,400 ราย จึงขอให้รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวงเกษตรเร่งหาแนวทางแก้ไขการนำปลากะพงขาวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าตีตลาด

ขณะที่ นายธนพล แย้มเกสร อายุ 50 ปี เกษตรผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงใน ต.บางกะไห เผยถึงสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงปลากะพงขาวของไทยแพงกว่ามาเลเซียว่าเกิดจากราคาอาหารปลาที่แพงจากวัตถุดิบในการนำมาผลิตอาหารภายในประเทศ ขณะที่ปลาจากมาเลเซียส่วนใหญ่กินอาหารจากเวียดนามจึงทำให้ต้นทุนด้านอาหารซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการผลิตถูกกว่าประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องราคาพลังงานไฟฟ้าของไทยที่ค่อนข้างแพง ซึ่งการเพาะเลี้ยงปลากะพงต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก หรือคิดเป็นร้อยละ 10-20 ของการผลิตทั้งหมด

"อยากถามหน่วยงานภาครัฐว่าทำไมค่าไฟฟ้าของไทยถึงมีราคาแพง และอยากฝากไปยังการไฟฟ้าให้ช่วยดูแลภาคการเกษตรบ้าง" นายธนพล เกษตรผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงใน ต.บางกะไห กล่าว

เกษตรผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงใน ต.บางกะไห




กำลังโหลดความคิดเห็น