ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ทีมสัตวแพทย์โคราชเร่งช่วยเหลือลูกช้างป่าทับลานหลงโขลง หวังแม่ช้างมารับกลับโดยเร็ว หาก 2 – 3 วัน ยังไม่มาอาจต้องนำลูกช้างป่าไปอนุบาลไว้ก่อน เผยเป็นลูกช้างแรกเกิดอายุราว 1 สัปดาห์สายสะดือยังไม่แห้ง สภาพร่างกายอ่อนแรง มีแผลถลอกตามตัว
วันนี้ ( 9 พ.ย.66 ) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณี ชาวบ้าน บ้านตลิ่งชัน ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา พบลูกช้างป่าหลงฝูง เดินวนเวียนอยู่แนวชายป่าทับลานติดกับไร่มันสำปะหลังของชาวบ้านเมื่อวานนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ ทล.08 ตลิ่งชัน ได้เข้าตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่า เป็นลูกช้างป่าเพิ่งคลอด เพศผู้ สูง 90 เซนติเมตร วัดรอบอกได้ 100 เซนติเมตร อยู่ในสภาพค่อนข้างอิดโรย เดินโซเซอยู่ริมแนวเขตป่าติดกับไร่มันสำปะหลังห่างจากแหล่งชุมชน ประมาณ 3 กิโลเมตร คาดว่า น่าจะพลัดหลงจากฝูงตั้งแต่คืนวันที่ 7 พ.ย. 66 ขณะโขลงช้างป่าพากันออกมาหากินผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน และมีการใช้เสียงผลักดันช้างกลับเข้าป่าตลอดทั้งคืน ทำให้โขลงช้างตกใจ ต่างรีบหนีเข้าป่า ลูกช้างตัวนี้ยังไม่แข็งแรงมากพอ จึงน่าจะเดินไม่ทันฝูง จนพลัดหลงกับแม่ช้างดังกล่าว
ล่าสุดวันนี้ สัตวแพทย์หญิงพรรณราย ว่องวัฒนกิจ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 นครราชสีมา พร้อมด้วยนายบัญชา ชุติมันตานนท์ ปศุสัตว์อำเภอครบุรี ได้นำทีมสัตวแพทย์ เข้าตรวจดูอาการของลูกช้างป่าแรกเกิดเพศผู้ตัวนี้ พบว่า ยังมีสภาพอ่อนแรงจากความเหนื่อยล้า ตามร่างกายมีบาดแผลถลอกเล็กน้อย และแผลบริเวณสายสะดือยังไม่แห้งดี จึงคาดว่า น่าจะมีอายุประมาณสัปดาห์เศษ ทีมสัตวแพทย์จึงใช้น้ำเกลือล้างทำความสะอาดและใส่ยาฆ่าเชื้อแผลที่สะดือกับแผลถลอกตามร่างกายให้ พร้อมกับป้อนนมผงให้ลูกช้างมีแรงกลับมา ซึ่งลูกช้างเริ่มมีอาการดีขึ้น หลังจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่จะทำการจำกัดบริเวณลูกช้างให้อยู่ในจุดเดิม หวังที่จะให้แม่ช้างกลับมารับลูกกลับเข้าสู่โขลงอีกครั้ง
โดยได้มีการประกาศขอความร่วมมือชาวบ้านในพื้นที่ ให้งดการเข้าไปหรือใช้เสียงในพื้นที่ที่ลูกช้างอาศัยอยู่ เพื่อรอให้แม่ช้างมารับกลับเข้าโขลงใหญ่จนกว่าจะประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม แม้ทางเจ้าหน้าที่จะจัดบริเวณให้ลูกช้างอยู่ลำพังในจุดที่พบตลอดทั้งคืนจนถึงตอนนี้แล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววของแม่ช้างจะมารับลูกกลับเข้าโขลงแต่อย่างใด ซึ่งทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่จะรอดูทีท่าอีกสัก 2 – 3 วัน หากแม่ช้างยังไม่กลับมารับ จะพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลืออื่นๆ โดยอาจต้องนำลูกช้างป่ากลับไปอนุบาลไว้ก่อน