xs
xsm
sm
md
lg

สมุทรสงครามเตรียมจัดใหญ่ ลอยกระทงกาบกล้วยเมืองแม่กลอง 1 แสนใบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมุทรสงคราม - แม่กลองจัดใหญ่งานลอยกระทง 2 แห่ง ด้วยกาบกล้วยเมืองแม่กลอง ที่อุทยาน ร.2 และวัดภูมรินทร์กุฏีทอง รวม 1 แสนใบ พร้อมประกวดกระทงชิงถ้วยพระราชทาน นางนพมาศ และลูกสาวแม่สวย

น.ส.กาญจน์สุดา ปานะสุทธะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรสงคราม เผยว่า วิถีชีวิตของชาวสมุทรสงครามมีความผูกพันกับสายน้ำมาตลอด ดังนั้น เพื่ออนุรักษ์และปลุกจิตสำนึกให้เยาวชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูประเพณี ปีนี้จังหวัดสมุทรสงครามจึงจัดงานประเพณีลอยกระทงกาบกล้วยเมืองแม่กลองขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ถึง 2 แห่ง

แห่งแรกที่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง หน้าอุทยานพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 วันที่ 25-26-27 พฤศจิกายน 2566 และแห่งที่ 2 ที่วัดภูมรินทร์กุฏีทอง อำเภออัมพวา วันที่ 27 พฤศจิกายน ทั้ง 2 แห่งจะมีกระทงกาบกล้วยประมาณ 1 แสนใบ ปักธูปชุบน้ำมันยางจุดไฟมาปล่อยให้ลอยไปตามท้องน้ำของแม่น้ำแม่กลอง สว่างไสวราวกับมีงานเฉลิมฉลอง โดยมีต้นทางปล่อยกระทงที่หน้าวัดท้องคุ้ง เมื่อลอยผ่านหน้าวัดภูมรินทร์กุฏีทอง และอุทยานรัชกาลที่ 2 ซึ่งเป็นคุ้งน้ำจะมีความสวยงามเป็นอย่างมาก

แห่งที่ 2 ที่วัดภูมรินทร์กุฏีทอง ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 มีกิจกรรมต่างๆ เช่น การประกวดเรือไฟ การประกวดกระทง ชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การประกวดนางนพมาศ การประกวดแม่สาวลูกสวย เวลาประมาณ 19.00 น.นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นประธานพิธีอัญเชิญพระประทีปพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินี และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ลอยในแม่น้ำแม่กลองเป็นปฐมฤกษ์ของเทศกาลลอยกระทง จากนั้นการลอยกระทงกาบกล้วยเมืองแม่กลอง จำนวน 1 แสนใบจะเริ่มขึ้นอย่างสวยงามและต่อเนื่อง จึงขอเชิญชาวสมุทรสงคราม และนักท่องเที่ยวไปร่วมลอยกระทงกาบกล้วยกัน

"ลอยกระทง" เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ โดยจะทำกันในคืนวันเพ็ญเดือน 12 หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ซึ่งเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง และเป็นช่วงที่น้ำเต็มตลิ่ง จะมีการนำดอกไม้ ธูป เทียนหรือสิ่งของใส่ลงในสิ่งประดิษฐ์รูปต่างๆ ที่ไม่จมน้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นกระทง แล้วนำไปลอยตามแม่น้ำลำคลอง ตามความเชื่อที่ต่างกัน เช่น บางตำนานบอกว่าเพื่อแสดงความขอบคุณพระแม่คงคาแหล่งน้ำที่ให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไป บางตำนานบอกว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา ซึ่งปัจจุบันคือแม่น้ำเนรพุททาในประเทศอินเดีย

สำหรับประเพณีลอยกระทงกาบกล้วยเมืองแม่กลองนั้น จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ชาวสมุทรสงครามที่เล่าต่อๆ กันมาว่า ก่อนวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ของทุกปี หนุ่มๆ สาวๆ แต่ละหมู่บ้านจะมารวมตัวกันทำกระทง โดยนำวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น คือ ต้นกล้วยมาทำเป็นกระทง แล้วซื้อธูปห่อใหญ่มาจุ่มน้ำมันยางแล้วคลี่ตากแดด 1 หรือ 2 วัน พอแห้งแล้วจึงนำไปจุ่มเทียนไขร้อนๆ อีกครั้งหนึ่ง

จากนั้นนำต้นกล้วยที่ตัดเตรียมไว้หั่นเป็นท่อนๆ ยาวประมาณท่อนละ 10 นิ้ว ลอกกาบกล้วยออกหงายขึ้นใช้ธูปที่ตากแดดจนแห้งปักลงกลางกาบกล้วยแล้วใส่ดอกไม้ที่ชอบพอสวยงาม พอค่ำของวันลอยกระทงหนุ่มสาวจะแต่งตัวกันอย่างสวยงาม นำกระทงกาบกล้วยที่ช่วยกันทำจำนวนมากใส่เรือพายมาที่แม่น้ำแม่กลอง หรือริมตลิ่งสองฝั่งคลอง

โดยหนุ่มๆ ที่รักความสนุกสนานจะนำกลองใบเล็กๆ และฉิ่ง ฉาบ หรือเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่หาได้ ตีเป็นจังหวะร้องรำทำเพลงในเรือ จากนั้นจึงนำกระทงกาบกล้ายที่ปักก้านธูปชุบน้ำมันยางจุดไฟแล้วปล่อยลอยเป็นสายตามแนวลำน้ำที่ไหลลงสู่ปากอ่าวแม่กลอง ธูปจะติดไฟลุกอย่างช้าๆ ให้ความสว่างไสวอย่างสวยงาม ยิ่งถ้าปล่อยกระทงกาบกล้วยตอนมืดๆ ด้วยแล้วจะสวยงามตระการตามากอย่างหาที่เปรียบมิได้

อย่างไรก็ตาม ประเพณีลอยกระทงสายกาบกล้วยของเมืองแม่กลอง ได้หายไปหลายสิบปีโดยไม่รู้สาเหตุ บ้างก็ว่ามาจากเศรษฐกิจ กอปรกับน้ำมันยางที่ชุบก้านธูปหายากในปัจจุบัน อีกทั้งการคมนาคมที่สะดวกขึ้นทำให้คนทิ้งเรือหันมาใช้รถที่สะดวกและรวดเร็วกว่า บ้างก็ว่าคนรุ่นใหม่นิยมนำเอาวัฒนธรรมของซีกโลกตะวันตกเข้ามา ขณะที่หนุ่มๆ สาวๆ สมัยนั้นก็ชราภาพลงทำให้ไม่มีผู้สืบทอด กระทั่งเมื่อปี 2548 สมัยที่นายอนุวัฒิ เมธีวิบูลย์วุฒิ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม จึงได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนที่เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่แฝงซึ่งนัยสำคัญแห่งภูมิปัญญาของความประหยัด เรียบง่าย จึงได้ฟื้นฟูประเพณีลอยกระทงกาบกล้วยขึ้นมาอีกครั้ง








กำลังโหลดความคิดเห็น