xs
xsm
sm
md
lg

ประมงครวญ! สภาพแวดล้อมลำน้ำบางปะกงย่ำแย่ ทำปลาดุกทะเล-โลมาออกหากินไกลกระทบการดำรงชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา -​ ชาวประมงลุ่มน้ำบางปะกงครวญ การขยายตัวของตัวเมือง อุตสาหกรรม​ทำสภาพแวดล้อมย่ำแย่ ส่งผลปลาดุกทะเล โลมาออกหากินไกลกระทบอาชีพหาปลา ออกเรือนำเที่ยวดูโลมา วอนคนมาใหม่ นักลงทุนมีจิตสำนึกรักษาสิ่งแวดล้อม

จากกรณีที่เกิดเหตุคลื่นลมแรงซัดเรือประมงขนาดเล็กล่มบริเวณปากอ่าวแม่น้ำบางปะกง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อเวลา 02.00 น. วันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวแม้ชาวบ้านจะได้ช่วยเหลือหนุ่มหาปลาวัย 46 ปี ที่ถูกคลื่นซัดจมแม่น้ำพร้อมเรือประมงขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย แต่เรือประมงยังคงจมหายและหาไม่พบ แม้ชาวประมงในพื้นที่จะช่วยกันออกค้นหาจนถึงในวันนี้ก็ตาม

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก น.ส.พิมล อุดมทั้งตระกูล อายุ 47 ปี ชาวบ้านใน ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี ภรรยาของ นายหลอด วิชัยวงษ์ อายุ 46 ปี หนุ่มหาปลาที่ประสบเหตุถูกคลื่นลมซัดเรือประมงล่มบริเวณปากอ่าวแม่น้ำบางปะกง ว่าหลังช่วยกันค้นหาเรือประมงอยู่นานถึง 2 วัน ยังไม่พบและขณะนี้คงหมดหนทางที่จะค้นหาแล้ว

จึงอยากวิงวอนไปยังหน่วยงานกู้ภัย หรือองค์กรการกุศลที่มีเครื่องมือในการค้นหา หรือมีนักประดาน้ำ ให้ยื่นมือช่วยเหลือครอบครัวของตน เพราะขณะนี้ไม่ต่างจากการถูกตัดมือตัดเท้าเพราะไม่มีเครื่องมือในการทำกินแล้ว


ขณะที่ นายปรีชา สุวรรณ์ อายุ 79 ปี ชาวบ้านใน ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ผู้เฒ่าแห่งเมืองสามน้ำ (น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย) ซึ่งประกอบอาชีพหากินอยู่กับทะเลและชายฝั่งมานานเกือบทั้งชีวิต บอกว่า ปัจจุบันสภาพแวดล้อมในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปมาก 

โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมในลำน้ำบางปะกงที่สังเกตเห็นได้ว่าในช่วงฤดูเดือน ต.ค.-ก.พ. ของทุกปีที่จะมีน้ำเค็มเลื่อนขึ้นสูงจนถึงปากอ่าว จนทำให้มีปลานานาชนิดเข้ามาหากินกลางลำน้ำใกล้ปากอ่าวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปลาดุกทะเล จนทำให้มีฝูงโลมา ทั้งโลมาปากขวด โลมาหัวบาตร และโลมาเผือก พากันเข้ามาหากินปลาดุกจนถึงในลำน้ำบางปะกง 

จนทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีอาชีพเสริมด้วยการนำเรือรับจ้างพาเที่ยวชมโลมากันอย่างคึกคักตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ส่วนชาวบ้านจะพากันนำเรือออกไปไล่ช้อนหัวปลาดุกทะเลที่เหลือจากการกัดกินของโลมา มาประกอบอาหาร 


แต่ปัจจุบันนี้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากการขยายตัวของชุมชน และผู้คนที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่มากขึ้น อีกทั้งยังมีโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาก่อตั้งในพื้นที่เป็นจำนวนมากขึ้น จึงไม่มีฝูงปลาดุกทะเล และโลมาเข้ามาหากินในลำน้ำบางปะกงตามฤดูกาล ไม่เพียงเท่านั้น ฝูงโลมายังพากันออกหากินไกลจากปากแม่น้ำบางปะกงมากถึงเกือบ 10 กิโลเมตร 

"จึงอยากให้ผู้ที่เข้ามาอยู่ใหม่ในพื้นที่ และโรงงานอุตสาหกรรมมีจิตสำนึกในการช่วยกันรักษาความสะอาดให้แก่สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในลำน้ำบางปะกงที่มีความสำคัญต่อชาว จ.ฉะเชิงเทรา เป็นอย่างมาก เพื่อให้ภาพความสวยงามทางธรรมชาติ​กลับคืนมาดังเดิม" นายปรีชา กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น