xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนครพนมร่วมใจรำบูชาพระธาตุพนม ถวายเป็นพุทธบูชาวันออกพรรษา ก่อนไหลเรือไฟช่วงเย็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (29 ต.ค.) ที่บริเวณหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคักของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมารอร่วมประกอบพิธีถวายเครื่องบูชาและรำบูชาพระธาตุพนมสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครพนม เป็นที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระมหากัสสปะสร้างไว้ตามความเชื่อพื้นถิ่น พระธาตุพนมเป็นพระธาตุที่มีเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และในลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง ที่เมื่อถึงเทศกาลสำคัญครั้งใด พุทธศาสนิกชนที่ให้ความเคารพจะเดินทางมาสักการบูชาเป็นประจำ



สำหรับประเพณีรำบูชาพระธาตุพนม มีมาตั้งแต่การสร้างพระธาตุพนมยุคแรกๆ แต่ไม่ได้รำติดต่อกันทุกปี กระทั่งปี พ.ศ. 2530 นายอุทัย นาคปรีชา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมในสมัยนั้น ได้ริเริ่มฟื้นฟูการรำบูชาพระธาตุพนมขึ้นมาร่วมกับงานเทศกาลออกพรรษาไหลเรือไฟ และมีการจัดให้มีพิธีรำบูชาพระธาตุพนมที่บริเวณหน้าวัดพระธาตุพนมในช่วงเช้าวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 จากนั้นจึงมีการไหลเรือไฟที่ตัวจังหวัดในภาคกลางคืนของวันเดียวกันเพื่อเป็นพุทธบูชา

ในปีนี้ ดร.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานนำนายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม คณะหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน พ่อค้า ประชาชน ตลอดจนคณะฟ้อนรำจากทุกอำเภอของจังหวัดนครพนม และนักท่องเที่ยว ร่วมกันแห่เครื่องสักการบูชามายังบริเวณประตูโขงหน้าวัดพระธาตุพนม

จากนั้นทุกคนร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนา ประธานนำจุดธูปเทียน กล่าวถวายเครื่องสักการบูชาและกล่าวไหว้พระธาตุ เมื่อเสร็จพิธีคณะนางรำก็เริ่มรำบูชา


โดยเริ่มจากการรำตำนานพระธาตุพนม เป็นการเล่าถึงประวัติความเป็นมา แรงศรัทธาและความเชื่อเกี่ยวกับองค์พระธาตุพนม นำเอาบทสวดสดุดีองค์พระธาตุพนมมาผสมผสานกับทำนองสรภัญญะและดนตรีมโหรี จากนั้นเป็นการฟ้อนศรีโคตรบูรณ์ เพื่อระลึกถึงความเจริญทางด้านศิลปวัฒนธรรมของอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ เป็นการผสมผสานระหว่างรำเซิ้งอีสานที่มีความสนุกสนามกับการฟ้อนรำผู้ไทยที่มีเอกลักษณ์ท่ารำ ยกสูง ก้มต่ำ รำกว้าง




ต่อมาคือรำผู้ไท เรณูนครที่ได้มีการพัฒนาและดัดแปลงมาจากศิลปะการรำที่แสดงในงานเทศกาลที่สำคัญต่างๆ คือการรำขอฝนจากพญาแถนให้ตกถูกต้องตามฤดูกาล การรำสมโภชงานบุญมหาชาติ ซึ่งจะมีความสนุกสนาน ร่าเริง เป็นการหยอกล้อของหนุ่มสาวที่มีการแต่งกายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตามมาด้วยรำหางนกยูง ที่มีการดัดแปลงท่ารำมาจากการรำไหว้ครูของนักรบสมัยก่อน แต่ให้มีความอ่อนช้อยงดงามเหมือนท่านกยูงรำแพน


ต่อมาเป็นการรำ 9 ชนเผ่า ที่เป็นการเล่าถึงคนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครพนม ที่มีอยู่ 9 ชนเผ่าว่ามีชนเผ่าอะไรบ้าง จากนั้นเป็นการรำขันหมากเบ็ง ซึ่งเป็นการรำถวายเครื่องบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยขันหมากเบ็งเป็นเครื่องบูชาชนิดหนึ่งของชาวอีสาน ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาจากใบตอง มีลักษณะเป็นพานพุ่ม ประกอบไปด้วยเครื่องบูชา 5 อย่าง อย่างละ 5 คู่ ได้แก่ หมาก พลู ธูป เทียน ข้าวตอก และดอกไม้ และในขั้นตอนสุดท้ายทุกคนร่วมกันรำในชุดรำเซิ้งอีสานบ้านเฮา ซึ่งในการรำชุดนี้ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาร่วมพิธีสามารถเข้ามาร่วมรำถวายเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองได้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น