เชียงใหม่ - ศิษย์เก่าหลั่งน้ำตาขอความเป็นธรรม..“ครูอมก๋อย” โดน ป.ป.ช.ชี้ผิดทางอาญา-ส่อโดนฟันวินัยร้ายแรงซ้ำ หลังร่วมเป็นกรรมการบริหารงบอาหารกลางวันเด็กอนุบาล-ประถมฯ ให้เด็กมัธยมกินนอน/ฐานะยากจนได้กินด้วย เผยเคยได้รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์-แบ่งเงินขายโรตี ช่วยศิษย์ได้เรียนต่อมาแล้วกว่า 40 คน
วันนี้ (25 ต.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มศิษย์เก่าโรงเรียนยางเปา อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ได้รวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือต่อนายสุรศักดิ์ เพียสุระ ผอ.เขต สพป.5 และนายสินอาจ ลำพูนพงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 5
เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้แก่ นายชัยยศ สุขต้อ ครูชำนาญการพิเศษ (คศ.3) โรงเรียนยางเปา ซึ่งถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำความผิดฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ จากการร่วมเป็นกรรมการตรวจรับพัสดุ อาหารกลางวันนักเรียนประถมและอนุบาล ซึ่ง ป.ป.ช.เข้าตรวจสอบเมื่อปี 2563 ขณะที่ อ.ก.ค.ศ.มีการประชุมพิจารณาความผิดทางวินัยร้ายแรงของนายชัยยศ
หนังสือขอความเป็นธรรมดังกล่าวระบุเนื้อหาว่า ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านยางเปา ซึ่งมีทั้งที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยอื่นๆ รวมทั้งพวกพี่ๆ ที่จบไปประกอบอาชีพต่างๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นลูกศิษย์ของครูชัยยศ สุขต้อ ที่กำลังประสบความยากลำบากความทุกข์ใจที่สุดของชีวิตจากการโดนกล่าวหา และชี้มูลความผิดในการทำงาน จึงรวมตัวกันมาเพื่อขอความเมตตาอนุเคราะห์จากประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ และคณะกรรมการ ให้ความเป็นธรรม คืนความยุติธรรมให้แก่ครูชัยยศ
กลุ่มศิษย์เก่าฯ ระบุด้วยว่า หลายปีที่ผ่านมาครูชัยยศได้ทำงานทั้งในและนอกเวลา ทุ่มเทเสียสละเวลา และกำลังทรัพย์ เพื่อลูกศิษย์ของครูทุกคน ดังปรากฏตัวอย่างลูกศิษย์ที่ได้รับการดูแลช่วยเหลือจากครูชัยยศ ทั้งในเรื่องการเรียนการสอน ซึ่งได้รับรางวัลมากมาย
เมื่อลูกศิษย์จบระดับมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว ครูชัยยศก็หาที่เรียน-หาที่อยู่ให้ได้เรียนในระดับวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ทั้งยังสนับสนุนด้วยการนำรางวัลที่ได้รับจากผลงานของครู มาเป็นทุนการศึกษาของลูกศิษย์ที่เรียนในมหาวิทยาลัย จนพวกเราหลายคนประสบความสำเร็จ และประกอบอาชีพ โดยมีครูชัยยศ สุขต้อ เป็นต้นแบบ เช่น เป็นข้าราชการครู เป็นนางพยาบาล เป็นทหาร เป็นผู้นำหมู่บ้าน และมีอาชีพทางด้านศิลปะ
ถ้าครูชัยยศถูกชี้มูลความผิดร้ายแรงจริงๆ ลูกศิษย์ที่กำลังศึกษาอยู่ก็คงหมดอนาคตไปด้วย ต้องหยุดเรียนกลับบ้าน เพราะคงไม่มีใครที่จะสนับสนุนให้เรียนต่อได้ เหมือนครูชัยยศอีกต่อไป
หลังจากที่กลุ่มศิษย์เก่าฯ ยื่นหนังสือแล้วได้เดินทางไปให้กำลังใจครูชัยยศ ที่บ้านแปลง 1 อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ซึ่งพบว่าครูชัยยศได้เปิดหน้าบ้านทำโรตีขายเพื่อหารายได้พิเศษด้วย และทันทีที่พบหน้าครูชัยยศ กลุ่มศิษย์เก่าต่างดีใจและซาบซึ้งที่ได้พบกัน บางคนถึงกับน้ำตาไหลพราก สงสารครูชัยยศที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง มีโทษสูงถึงถูกไล่ออก หรือ ปลดออก
ด้านนายชัยยศเปิดเผยว่า ตนทุ่มเทชีวิตสอนหนังสือเด็กนักเรียนพื้นที่ทุรกันดาร อ.อมก๋อย มานาน 26 ปี เคยได้รับรางวัลครูดีเด่นมา 10 รางวัล รางวัลที่ภาคภูมิใจที่สุดคือ รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อปี 2553 ตอนนั้นได้เงินรางวัล 2 หมื่นบาท ก็นำมาซื้ออุปกรณ์เรียนรู้ศิลปะและทำโครงการให้นักเรียน
นอกจากนี้ ขณะที่ตนรับราชการตั้งแต่ปี 2540 ตนได้พานักเรียนขายของ-ขายโรตี ตามงานในอำเภออมก๋อย และหาทุนการศึกษาจากที่อื่น เพื่อช่วยเหลือลูกศิษย์ได้เรียนต่อ บางรายจบพยาบาล รับราชการเป็นครู และศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นรวม 42 คน
“หลังจาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ผมปฏิเสธข้อกล่าวหาอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากไม่มีส่วนร่วมในการเบียดบังค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนแต่อย่างใด ถ้าหาก อ.ก.ค.ศ.ชี้มูลความผิดมาอีกก็จะดำเนินการยื่นอุทธรณ์กันต่อไป”
ขณะที่นางสาวรุ่งอรุณ ตัวแทนลูกศิษย์ครูชัยยศ เปิดเผยว่า ตนและเพื่อนๆ อีกหลายคนเดินทางมาจาก อ.อมก๋อย มาที่บ้านของครูชัยยศที่ อ.ดอยเต่า เพราะต้องการมาให้กำลังใจครูชัยยศหลังถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด เพราะครูชัยยศได้ดูแลเด็กนักเรียนในโรงเรียนยางเปาเหมือนกับลูกกับหลาน ทั้งๆ ที่ครูไม่มีครอบครัว โดยเฉพาะตน ครูได้จัดหาทุนการศึกษาแนะนำการศึกษาต่อ ซึ่งตนก็ได้แรงบันดาลใจอยากเป็นครูเหมือนครูชัยยศ จนปัจจุบันสามารถสอบติดครูรับราชการในพื้นที่ อ.อมก๋อย และหวังว่าคุณครูจะได้รับความเป็นธรรมในที่สุด
จากการสอบถามข้อมูลอดีตผู้บริหารโรงเรียนยางเปารายหนึ่งทราบว่า โรงเรียนแห่งนี้เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้น อนุบาล ประถมศึกษา และชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งปกติภาครัฐได้จัดงบประมาณค่าอาหารกลางวันให้เฉพาะเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลและประถมศึกษาเท่านั้น ทำให้เด็กชั้น ม.ต้น ไม่ได้รับงบประมาณดังกล่าว
ทางผู้บริหารโรงเรียนจึงเห็นว่าเด็กนักเรียน ม.ต้นกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่กับผู้ปกครองและส่วนใหญ่มีฐานะยากจนไม่มีแม้กระทั่งเงินมาโรงเรียน จึงได้มีการบริหารจัดการงบประมาณและจัดซื้อวัตถุดิบอาหารกลางวันเพิ่มขึ้น เพื่อให้เด็กนักเรียนกินนอนที่เรียนชั้น ม.ต้นได้รับประทานด้วย จนมีคนร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.และมีการชี้มูลความผิดในที่สุด