อุทัยธานี - ผู้เลี้ยงปลากระชังเดือดร้อนกันระนาว..มวลน้ำเหนือไหลบ่า “เจ้าพระยา” ขุ่นคลั่ก-เชี่ยวแรง อัตราไหลผ่านนครสวรรค์วัดได้ 1,820 ลบ.ม.ต่อวินาที แม้ไม่ทะลักท่วม แต่ปลาน็อกน้ำตายเป็นเบือ ต้องตักทำปุ๋ยหมักทุกเช้า บางรายสูญเงินวันละเป็นพัน
วันนี้ (12 ต.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มวลน้ำจากภาคเหนือที่ไหลบ่าลงสู่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดสถานีวัดน้ำ C2 (เจ้าพระยา) อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ วัดอัตราน้ำไหลผ่านได้ 1,820 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านพื้นที่ตำบลหาดทนง ตำบลเกาะเทโพ และตำบลท่าซุง จ.อุทัยธานี ก็มีระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ยังสามารถรับปริมาณน้ำได้อีก แต่สีของน้ำมีสีขุ่นแดงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่บ้านท่ารากหวาย ตำบลเกาะเทโพ อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ทั้งปลาทับทิม ปลาเทโพ ปลาสวาย ปลาสังขวาส ที่เลี้ยงไว้ในกระชังหลายร้อยกระชังเริ่มทยอยตายทุกวัน วันละหลายร้อยตัว
นางบังอร สามัคคี อายุ 69 ปี เกษตรกรเลี้ยงปลากระชัง บ้านท่ารากหวาย ม.3 ต.เกาะเทโพ เล่าว่า มวลน้ำที่ไหลบ่ามามีสีขุ่นแดงอย่างเห็นได้ชัดมาเกือบ 1 สัปดาห์แล้ว ส่งผลให้ตะกอนเกาะเหงือกปลาที่เลี้ยงไว้ รวมทั้งทำให้น้ำขาดออกซิเจน ปลาปรับสภาพไม่ทันทยอยตายกระชังละกว่า 10 ตัว ซึ่งตนเองเลี้ยงไว้ทั้งหมด จำนวน 7 กระชัง กระชังละ 1,200 ตัว มีทั้งปลาได้ขนาดและยังไม่ได้ขนาด หากคิดเป็นเงินที่จะต้องขายได้ ก็เป็นสูญเงินวันละกว่า 1,000 บาททุกวัน
“ช่วงนี้ทุกวันตอนเช้าจะต้องตักปลาที่ลอยตายเกลื่อนกระชังออกเอาไปทำปุ๋ยหมัก และต้องติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนลดความเสียหาย นอกจากนี้ยังต้องลากกระชังปลาให้ชิดริมฝั่งแม่น้ำให้มากที่สุด เพื่อป้องกันน้ำที่อาจจะไหลเชี่ยวไปมากกว่านี้ ไม่ให้ตาข่ายกระชังปลาขาดจนปลาหลุดออกจากกระชังเสียหายเพิ่มไปอีก”
อย่างไรก็ตาม หากสภาพน้ำยังเป็นสีขุ่นแดงและมีตะกอนแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ คาดว่าปลาหลายชนิดที่เลี้ยงไว้ในกระชังจะต้องตายเพิ่มอย่างแน่นอน และจะขาดทุนจนต้องเป็นหนี้เป็นสินจากการกู้เงินมาลงทุน เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นมากกว่านี้จึงต้องเร่งจับปลาทั้งได้ขนาดและไม่ได้ขนาดออกขายให้หมด และการขายต้องรอคิวจับปลาจากพ่อค้าคนกลาง ทำให้ตอนนี้ต้องพยายามไม่ให้ปลาตายไปมากกว่านี้ ด้วยการให้อาหารปลาให้น้อยลง และหมั่นดูแลอย่างใกล้ชิด