กาฬสินธุ์ - “ไชยา พรหมา” รมช.เกษตรและสหกรณ์ สั่งชะลอระบายน้ำเขื่อนลำปาว ลดผลกระทบน้ำท่วมกาฬสินธุ์ กำชับทุกฝ่ายเร่งช่วยเหลือชาวบ้าน ด้านพื้นที่การเกษตรเสียหายนับแสนไร่ พร้อมนำเสนอนายกรัฐมนตรีชงแผนแก้น้ำท่วมภาคอีสานอย่างเป็นระบบในอนาคต
วันนี้ (8 ต.ค.) ที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ส.ส.พรรคเพื่อไทย จังหวัดกาฬสินธุ์ น.ส.นนทิชา วรรณสว่าง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขตตรวจราชการที่ 12 พร้อมคณะทำงานรัฐมนตรี เข้ารับฟังรายงานปริมาณน้ำเขื่อนลำปาว และสถานการณ์น้ำท่วม จากนายสำเริง ม่วงสังข์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และนางอัศนีย์ญ บุษบาแย้ม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ นายสุรพล สวนกัน ผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ มีนายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม
ปัญหาน้ำท่วมจังหวัดกาฬสินธุ์เกิดจากฝนตกหนัก ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนถึงปัจจุบัน ทำให้ปริมาณน้ำสะสมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเขื่อนลำปาว ยังได้รับอิทธิพลจากน้ำป่าไหลเข้าอ่างด้านอำเภอศรีธาตุ จ.อุดรธานี และน้ำป่าจากเทือกเขาภูพาน ส่งผลให้เขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำเพิ่มรวดเร็วจนเกินระดับกักเก็บ โดยปีนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมากถึง 2,200 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุระดับกักเก็บที่ 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 27% เฉพาะเดือนกันยายนมีถึง 1,063 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. 66-วันที่ 17 ส.ค. 66 มีการพร่องน้ำเรื่อยมาเพื่อรองรับน้ำใหม่ และเริ่มระบายน้ำบริเวณอาคารผันน้ำ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 66 ซึ่งเริ่มจากวันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นไปถึงวันละ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร และไต่ระดับแบบขั้นบันได ระบายในช่วงปริมาณน้ำเกินระดับกักเก็บ 100 เปอร์เซ็นต์เฉลี่ยวันละ 15-25 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายสูงสุดที่วันละ 29 ล้านลูกบาศก์เมตรจำนวน 4 วัน เพื่อรักษาเสถียรภาพตัวเขื่อน และรองรับน้ำที่จะไหลเข้าใหม่ คาดว่าจะมีน้ำไหลเข้าอ่างฯ อย่างต่อเนื่องอีกระยะหนึ่งมากกว่า 120 ล้านลูกบาศก์เมตร
ล่าสุดสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาวมีแนวโน้มดีขึ้น โดยมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 2,005 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 101% ของความจุ ระดับน้ำหน้าอ่างลดลงจากที่สูงสุดแล้ว 21 ซม. จาก 164.29 ม.รทก.ลงมาอยู่ที่ 164.08 ม.รทก. แต่ยังสูงกว่าระดับเก็บกักอยู่ 8 ซม. ที่ผ่านมาได้ปรับลดการระบายน้ำมาตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.ลดเป็น 25 ล้านลูกบาศก์เมตร, วันที่ 6 ต.ค.ลดเป็น 22 ล้านลูกบาศก์เมตร และล่าสุดวันนี้ 8 ต.ค. ลดเป็น 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบันได้รับผลกระทบจำนวน 10 อำเภอ
แยกเป็น 2 ส่วน คือ น้ำท่วมด้านเหนือเขื่อน จากระดับน้ำของเขื่อนลำปาวที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นพื้นที่รอบเขื่อนลำปาว และเป็นเอกสารสิทธิสัญญาเช่าของกรมธนารักษ์ ได้รับผลกระทบจำนวน 6 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอท่าคันโท อำเภอหนองกุงศรี อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอสามชัย อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ และอำเภอห้วยเม็ก รวม 24 ตำบล 134 หมู่บ้าน 3,710 ครัวเรือน มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบ 564 หลัง ด้านเกษตรได้รับผลกระทบ 29,445 ไร่ ด้านประมง 95 ไร่ และถนน 183 สาย
ส่วนน้ำท่วมด้านท้ายเขื่อน จากการระบายน้ำของเขื่อนลำปาว ได้รับผลกระทบจำนวน 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอร่องคำ อำเภอฆ้องชัย อำเภอยางตลาด และอำเภอกมลาไสย รวม 31 ตำบล 228 หมู่บ้าน 6,120 ครัวเรือน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 738 หลัง ด้านเกษตรได้รับผลกระทบ 55,224 ไร่ ด้านประมง 374 ไร่ และถนน 64 สาย
ภายหลังจากรับฟังรายงานสถานการณ์ที่คาดว่าจะเริ่มดีขึ้น นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะได้เดินทางไปยังอาคารผันน้ำเขื่อนลำปาว พร้อมกับได้กดปุ่มลดบานประตูชะลอการระบายน้ำลงในพื้นที่ราบลุ่ม เพื่อลดความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม ทั้งเตรียมการให้ส่วนราชการ และประชาชนประกาศเตือนภัยเพื่อรับมือกับมวลน้ำในลำน้ำชีที่จะไหลเข้ามาสมทบในพื้นที่กาฬสินธุ์
นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าสถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วงเนื่องจาก เขื่อนลำปาวยังจำเป็นต้องทำการระบายน้ำ เนื่องจากอิทธิพลน้ำป่าที่ไหลเข้ามาจาก จ.อุดรธานี และแนวเขตเทือกเขาภูพานเติมเข้าอ่างอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้เกินปริมาณกักเก็บ ซึ่งแนวทางนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้มาตรวจเยี่ยม จะมีการนำเสนอแผนการปรับเปลี่ยนทางน้ำให้ผันน้ำลงแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นการทำอุโมงค์หรือสร้างระบบชลประทานให้ครบวงจร ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก
หากเปรียบเทียบความเสียหายแต่ละปี เชื่อว่าจะเป็นแผนที่ดีในการป้องกันปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ภาคอีสาน ภายหลังน้ำลด การช่วยเหลือจะเกิดขึ้นทุกรูปแบบ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกกระทรวง โดยเฉพาะ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เยียวยาประชาชนให้ดำรงชีวิตได้ ขณะนี้ได้สำรวจความเสียหายเอาไว้แล้ว
จากนั้นนายไชยา พร้อมคณะได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพ แก่ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมที่บ้านท่าเรือ ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด และบ้านท่าสิน และบ้านสีดา ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์รวม 700 ครัวเรือน พบว่าหลายครอบครัวเริ่มป่วยเป็นโรคผิวหนังและซึมเศร้า ซึ่งสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ได้จัดทีมแพทย์เข้าดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะที่ด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็จัดเตรียมเรือและการอพยพประชาชนหากมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอีก