บุรีรัมย์ - เกษตรกรแห่สอบถามรายละเอียดเงื่อนไข วิธีลงทะเบียน และหลายคนนำมือถือไปให้เจ้าหน้าที่โหลดแอปฯ “BAAC Mobile” เพื่อลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ ที่ ธ.ก.ส.สาขาอิสาณ จ.บุรีรัมย์ คึกคักเกษตรกรเผยพักชำระหนี้สามารถช่วยให้นำเงินไปหมุนใช้จ่ายอย่างอื่นได้ แต่อยากให้ลดดอกเบี้ยเพื่อแบ่งเบาภาระ เพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้นไม่สอดคล้องกับราคาขายผลผลิต
วันนี้ (3 ต.ค.) บรรยากาศที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาอิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ได้มีเกษตรกรจากหลายหมู่บ้าน ตำบลเดินทางมาสอบถามรายละเอียดเงื่อนไข วิธีการลงทะเบียนโครงการพักชำระหนี้ตามนโยบายรัฐบาล ขณะที่หลายคนก็ได้นำโทรศัพท์มือถือมารอคิวให้เจ้าหน้าที่ช่วยโหลดแอปพลิเคชัน BAAC Mobile เพื่อลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ ตามมาตรการพักชำระหนี้ให้เกษตรกรและบุคคลที่มีสถานะเป็นหนี้ปกติ และหนี้ค้างชำระที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ทุกสัญญารวมกัน ณ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท อย่างคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้า เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนยังไม่ทราบถึงรายละเอียดโครงการ และบางส่วนก็โหลดแอปฯ ไม่เป็น โดยเฉพาะเกษตรกรที่เป็นผู้สูงอายุ จึงได้มาสอบถามรายละเอียดและให้เจ้าหน้าที่ช่วยโหลดแอปฯ เพื่อลงทะเบียนให้
ขณะที่เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.ก็ได้แนะนำรายละเอียดโครงการ พร้อมให้บริการโหลดแอปพลิเคชัน BAAC Mobile เพื่อลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรด้วยเช่นกัน ซึ่งหลังจากเปิดทำการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 66 ก็มีเกษตรกรโทรศัพท์มาสอบถามอย่างต่อเนื่อง แต่พอวันนี้เปิดทำการวันแรกเกษตรกรก็เดินทางมาสอบถามด้วยตัวเอง และนำมือถือมาให้โหลดแอปฯ ให้ตลอดทั้งวัน ซึ่งหลังจากลงทะเบียนแล้ว ระบบจะมีการประมวลข้อมูลตรวจสอบคุณสมบัติ เพื่อนัดหมายผู้ผ่านเกณฑ์และผู้ค้ำประกันไปที่สาขาหรือจุดบริการที่นัดหมาย เพื่อจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องเข้ารับการประเมินศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ต่อไป
จากการสอบถามนางรัตนา กาละเกศ อายุ 43 ปี เกษตรกร ต.สะแกโพรง อ.เมืองบุรีรัมย์ บอกว่า ตนทำนา 15 ไร่ เป็นหนี้ ธ.ก.ส.อยู่กว่า 150,000 บาท แต่ละปีต้องส่งดอกเบี้ยกว่า 1 หมื่นบาท บางปีที่ขายผลผลิตไม่ได้ราคา หรือประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ก็จะไม่มีเงินไปชำระหนี้ ก็ต้องไปหยิบยืมหรือกู้เงินนอกระบบมาชำระหนี้แทน เมื่อรัฐบาลมีโครงการพักชำระหนี้ก็เป็นสิ่งที่ดีสามารถช่วยเกษตรกรได้ระดับหนึ่ง จะได้มีเงินไปหมุนเวียนใช้จ่ายอย่างอื่นที่จำเป็น แต่เมื่อครบกำหนดก็ต้องหาเงินมาใช้หนี้เหมือนเดิม แต่หากเป็นไปได้ก็อยากให้รัฐมีโครงการลดดอกเบี้ย จึงจะช่วยแบ่งเบาภาระให้เกษตรกรได้