xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! พบพื้นที่ฝั่งตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยาช่วง จ.ชัยนาท และเขตติดต่อมีการเพาะปลูกนอกแผนเพียบ หวั่นน้ำไม่พอใช้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชัยนาท - อึ้ง! พบพื้นที่ฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยาช่วง จ.ชัยนาท และเขตติดต่อ เพาะปลูกนอกแผนเพียบ เฉพาะพื้นที่รับผิดชอบ สนง.ชป.12 กว่า 400,000 ไร่ ห่วงคือปีนี้ และปีหน้าอาจจะมีปัญหาเรื่องการใช้น้ำ

วันนี้ (25 ก.ย.) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มเจ้าพระยา เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝนที่ตกหนัก และปรากฏการณ์เอลนีโญ

โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจสถานการณ์น้ำจาก จ.อยุธยา ถึง จ.ชัยนาท มี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นผู้สรุปข้อมูลการจัดการน้ำระหว่างบินสำรวจสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะช่วง จ.ชัยนาท สิงห์บุรี (บางส่วน) ยาวไปจนถึงสุพรรณบุรี อ่างทอง อยุธยา พบพื้นที่สีเขียวคล้ายมีการเพาะปลูกจำนวนมาก ซึ่งตรงกับข้อมูลที่กรมชลประทานสำรวจพื้นที่คาดการณ์เพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง (นอกแผน) ปี 2566 ก่อนหน้านี้ วันที่ 20 ก.ย.66 ที่คาดการณ์ไว้ 2,199,206 ไร่ พบพื้นที่สำนักงาน ชลประทานที่ 12 มีการเพาะปลูก 533,797 ไร่ จากที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 754,431 ไร่ แบ่งเป็นรายโครงการ คือ

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชัยนาท 5,585 ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุ 97,014 ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร 174,064 ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายางมณี 12,456 ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลเทพ 66,756 ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรัษาท่าโบสถ์ 19,598 ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก 103,871 ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา 15,523 ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดอนเจดีย์ 38,930 ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล 700 ไร่

ร.อ.ธรรมนัส เผยว่า เรื่องอุทกภัยปีนี้ไม่น่ามีปัญหาอะไร ขณะเดียวกันได้พยายามระบายน้ำเข้าสู่ระบบกักเก็บต่างๆ ซึ่งในวันที่ 1 พ.ย.66 จะมีการหารือกันอีกรอบว่า ปริมาณน้ำที่มีอยู่จะบริหารจัดการอย่างไร หากเทียบกับปริมาณน้ำเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ แต่ไม่เสียหายหนัก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือปีนี้ และปีหน้าที่อาจจะมีปัญหาเรื่องการใช้น้ำ

โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา จัดหาแหล่งน้ำสำรองและกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับปรากฏการณ์เอลนีโญ และการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง ป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด








กำลังโหลดความคิดเห็น