เชียงใหม่ - “ปลัดจอมแฉ” เผยพร้อมเป็นพยานในศาลคดีที่อัยการนนทบุรีสั่งฟ้อง “ฌอน บูรณะหิรัญ” ข้อหาฉ้อโกงประชาชน กรณีเปิดรับบริจาคอ้างนำไปช่วยดับไฟป่าเชียงใหม่ แต่เอาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เมื่อปี 2563 หลังเป็นผู้รวบรวมข้อมูลหลักฐานจากผู้เสียหายที่เข้าร้องเรียน จนขึ้นสถานีตำรวจแจ้งความดำเนินคดีไลฟ์โค้ชชื่อดัง หวังเป็นคดีตัวอย่างนำไปสู่การบังคับใช้ พ.ร.บ.เรี่ยไร อย่างเคร่งครัดจริงจัง เพื่อปิดช่องโหว่คนฉวยโอกาส
วันนี้ (18 ก.ย. 66) นายบุญญฤทธิ์ นิปวณิชย์ หัวหน้าศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 5 สาขาจังหวัดเชียงใหม่ และประธานสมาพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย เปิดเผยกรณีอัยการจังหวัดนนทบุรีสั่งฟ้อง "ฌอน บูรณะหิรัญ" ไลฟ์โค้ชชื่อดัง ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน กรณีเปิดรับบริจาคเงินอ้างนำไปช่วยสนับสนุนการดับไฟป่าดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2563 ว่า ทราบเรื่องดังกล่าวจากผู้เสียหายกรณีนี้ว่าได้รับหนังสือแจ้งจากศาลนัดให้ไปเป็นพยานในวันที่ 10 ต.ค. 66 ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้เมื่อปี 2563 ผู้เสียหายหลายรายทั้งที่เป็นผู้บริจาคเงินและเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ได้เข้ามาร้องเรียนต่อตัวเองเมื่อครั้งเป็นปลัดอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ให้ตรวจสอบการรับบริจาคของ "ฌอน"
ทั้งนี้ จากการให้ปากคำของผู้เสียหายและผู้ร้องเรียน รวมทั้งจากการรวบรวมหลักฐานต่างๆ พบความผิดปกติหลายอย่างเกี่ยวกับการเปิดรับบริจาคดังกล่าวของ “ฌอน” ทั้งการให้โอนเงินบริจาคเข้าบัญชีส่วนตัว, การนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายส่วนตัว รวมทั้งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครดับไฟป่าที่ถูกกล่าวอ้างถึงในการเปิดรับบริจาค ต่างยืนยันว่าไม่เคยได้รับการช่วยเหลือใดๆ จาก "ฌอน" ซึ่งต่อมาวันที่ 2 ก.ย. 66 ตนได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อ "ฌอน" ที่สถานีตำรวจภูธรแม่ริม ในความผิดฉ้อโกงประชาชน, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.เรี่ยไร
กรณีนี้มีผู้เสียหายจำนวนมากและอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งมีผู้เสียหายรวมตัวเข้าแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจภูธรปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ด้วย ทำให้ในเวลาต่อมาทางพนักงานสอบสวนได้รวมคดีทั้งหมดไปดำเนินคดีที่สถานีตำรวจภูธรปากเกร็ด และล่าสุดอัยการจังหวัดนนทบุรีสั่งฟ้องในที่สุด ซึ่งในส่วนของตนที่เป็นผู้เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อ "ฌอน" นั้น เบื้องต้นไม่ได้รับหนังสือแจ้งให้ไปเป็นพยานแต่อย่างใด แต่มีความพร้อมอย่างเต็มที่และยินดีที่จะไปเป็นพยานที่ศาลด้วยหากได้รับหนังสือแจ้ง เพราะที่ผ่านมาตนมีข้อมูลและพยานหลักฐานที่รวบรวมไว้จำนวนมากอย่างครบถ้วน เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี
นอกจากนี้ นายบุญญฤทธิ์แสดงความเห็นด้วยว่า คดีนี้ถือว่าเป็นคดีตัวอย่างและอยากให้เกิดเป็นบรรทัดฐาน เพราะการเปิดรับบริจาคในสังคมไทยเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปและบ่อยครั้ง แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีการตรวจสอบว่าผู้ที่เปิดรับบริจาคนั้นนำเงินที่ได้ไปใช้จริงตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคหรือไม่ ขณะเดียวกัน การเปิดรับบริจาคนั้นมี พ.ร.บ.เรี่ยไรบังคับใช้ควบคุมอยู่ ซึ่งกำหนดให้ต้องขออนุญาตก่อนและสามารถตรวจสอบได้ แต่ต้องยอมรับว่าในทางปฏิบัติไม่ค่อยเคร่งครัดและทำให้เกิดปัญหาเช่นกรณีนี้ ซึ่งการที่อัยการจังหวัดนนทบุรีสั่งฟ้องคดีในฐานความผิดฉ้อโกงประชาชนและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นเรื่องที่ดี และน่าจะดียิ่งขึ้นหากฟ้องคดีในฐานความผิด พ.ร.บ.เรี่ยไร ด้วย เพื่อให้เป็นแบบอย่างให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างเข้มงวดจริงจังและปิดช่องโหว่ไม่ให้มีผู้ฉวยโอกาสนำไปแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับคดีดังกล่าวนี้เริ่มต้นจากการที่เมื่อช่วงต้นปี 2563 “ฌอน” ได้เปิดรับเงินบริจาค ให้คนโอนเงินเข้าบัญชีตัวเอง เพื่อจะนำเงินไปช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่สู้ไฟป่า และผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งต่อมาช่วงกลางปี 2563 เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าตัวจริงได้ออกมาตั้งคำถามว่าแล้วเงินบริจาคอยู่ไหน เนื่องจาก “ฌอน” ไม่เคยมีการเปิดเผยยอดบริจาค และไม่เคยได้รับสิ่งของจาก “ฌอน” เลย กระทั่งต่อมา “ฌอน” ได้ออกมาชี้แจง แต่ยิ่งทำให้เรื่องบานปลาย เพราะเงิน 1 ใน 3 ของยอดบริจาคถูกนำไปใช้เป็นค่าผลิตสื่อและโปรโมตโพสต์ รวมทั้งนำเงินไปช่วยโควิด-19 ซึ่งถูกมองว่าผิดวัตถุประสงค์ในการขอรับบริจาค