xs
xsm
sm
md
lg

"เศรษฐา" นายกฯ ตรวจติดตามโครงการอุโมงค์ผันน้ำเขื่อนแม่กวง พบคืบหน้าแล้ว 80%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่-นายกฯ "เศรษฐา" นำทีมตรวจเยี่ยมติดตามโครงการอุโมงค์ผันน้ำเพิ่มปริมาณน้ำเขื่อนแม่กวง พบคืบหน้าแล้ว80% คาดเสร็จภายใน2ปี


ช่วงสายวันนี้(16ก.ย.66) ที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ตำบลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำตามโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำด้านการเกษตรและการอุปโภคบริโภค พร้อมรับฟังปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดเชียงใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาฝนตกทิ้งช่วงเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนินโญ่โดยมีหน่วยงานเกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินงานและข้อมูต่างๆ

สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำดังกล่าวมีระยะทางทั้งสิ้น 46 กิโลเมตร เริ่มต้นจากประตูระบายน้ำแม่ตะมาน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ไปยังเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลไปสู่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของเขื่อนแม่กวงอุดมธาราอีก 160 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี เนื่องจากที่ผ่านมาเขื่อนแม่กวงอุดมธารามีปริมาณน้ำปีละประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังไม่เต็มศักยภาพของอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณกักเก็บ 263 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ล่าสุดการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วประมาณร้อยละ 80 และคาดว่าน่าจะเสร็จในเวลาอีกประมาณ 2 ปี

ทั้งนี้เขื่อนแม่กวง ดูแลส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน 170,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 33 ตำบล ใน 5 อำเภอ ของ 2 จังหวัด คือ อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านธิ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน สามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีเฉลี่ยปีละ 120,000 ไร่ นาปรังเฉลี่ยปีละ 25,000 ไร่ และส่งน้ำให้กับการประปาส่วนภูมิภาคเชียงใหม่ปีละ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร

โดยในส่วนของการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปีนี้ มีการวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูฝน นาปี พืชไร่พืชผัก พืชสวน 148,400 ไร่ มีแผนการส่งน้ำในฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.-6 ธ.ค.66 จำนวน 95 ล้านลูกบาศก์มตร ปัจจุบันส่งน้ำแล้ว 60 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 52 แต่จากสถานการณ์เอลนีโญ ทำให้ปีนี้ฝนน้อยกว่าปกติ จึงมีการวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งร่วมกับคณะกรรมการจัดการชลประทานเขื่อนแม่กวงอุดมธารา โดยจะเน้นการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม และให้ลำดับความสำคัญ จากน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ การเกษตรและอื่นๆ ตามลำดับ ในอนาคต




กำลังโหลดความคิดเห็น