xs
xsm
sm
md
lg

“ไฟป่ากับนาข้าว” ต้นเหตุสำคัญหมอกควัน...แก้แค่ข้าวโพดไม่ช่วยหยุดปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ไฟป่ากับนาข้าว” ต้นเหตุสำคัญหมอกควัน...แก้แค่ข้าวโพดไม่ช่วยหยุดปัญหา

โดย ดำรง พงษ์ธรรม

ผู้เขียนเคยเขียนถึงปัญหาหมอกควันมาหลายครั้ง ล่าสุด ในสภาฯ มีการพูดถึงประเด็นนี้กันอีก จึงขอหยิบยกข้อมูลที่อาจทำให้ประเทศไทยแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุดมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง

“รายงานสถานการณ์และข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการเผาในที่โล่งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านระหว่างปี 2562-2564 โดยคณะทำงานวิชาการเฉพาะกิจ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารจัดการไฟป่าและการเผาในที่โล่ง เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ภายใต้สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี” นั้นมีการระบุถึง รายละเอียดการศึกษาการเผาไหม้ซ้ำซากในภาคเหนือตอนบน ที่สามารถระบุสถานที่และเวลาของการเผาได้อย่างชัดเจน

ขณะเดียวกัน คณะทำงานดังกล่าว ยังวิเคราะห์พื้นที่เผาซ้ำซาก รวมทั้งสิ้น 9.7 ล้านไร่ พบว่าเป็นการ “เผาพื้นที่ในป่า” ถึงร้อยละ 65 เป็น “นาข้าว” ร้อยละ 22 และเป็น “ข้าวโพด” เพียงร้อยละ 6 รวมถึงเกษตรกรรม “อื่นๆ” อีกร้อยละ 3 ส่วน “ไร่อ้อย”มีสัดส่วนเพียงร้อยละ2


สอดคล้องกับ ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ที่ระบุว่าจุดความร้อนใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ช่วงมกราคม-มีนาคม 2566 พบว่าในป่าอนุรักษ์มีจุดความร้อนเกิดขึ้นใน “พื้นที่ป่า” ถึงร้อยละ 95.6 ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่เกษตร ซึ่งในกลุ่มพื้นที่เกษตรพบจุดความร้อนใน “นาข้าว” มากที่สุดถึงร้อยละ 56.6 พื้นที่พืชเกษตรอื่นๆ ร้อยละ 20.8 พื้นที่ปลูกอ้อยร้อยละ 10.8 และมีจุดความร้อนในพื้นที่ไร่ข้าวโพดหมุนเวียนเพียงร้อยละ10.7

ข้อมูลทั้งสองชุดแสดงตรงกันว่า ปัญหาการเผาไหม้ที่ส่งผลให้เกิดควันนั้นเกิดขึ้นมากที่สุดในพื้นที่ป่า และถ้าเป็นพื้นที่เกษตรก็เกิดมากสุดในนาข้าว แต่หลายคนกลับให้ความสนใจกับสาเหตุส่วนน้อย เช่น พื้นที่ปลูกข้าวโพด จนดูเหมือน ข้าวโพด ต้องกลายร่างเป็นแพะมานานนม ทำให้การแก้สาเหตุที่แท้จริงไม่เกิดขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาหมอกควันเรื่อยมา

แม้จะไม่ใช่สาเหตุหลักของปัญหาหมอกควัน แต่ก็น่าชมเชยที่ ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวโพดรายใหญ่ของไทยพยายามจัดการปัญหา ด้วยการยุติการรับซื้อข้าวโพดรุกป่าและผ่านการเผาตอซัง ในโครงการ “ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ” โดยมีกระบวนการจัดการตั้งแต่การลงทะเบียนเกษตรกร ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ตลอดจนสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐาน GAP ที่จะช่วยทั้งการเพิ่มผลผลิตและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไปได้พร้อมๆ กัน ช่วยลดปัญหาการเผาไร่ข้าวโพดจากในอดีตได้เป็นอย่างมาก น่าเสียดายที่ทั้งประเทศมีผู้รับซื้อข้าวโพดมากมาย แต่กลับมีรายใหญ่เพียงรายเดียวที่กระตือรือล้นในการจัดการปัญหานี้


ปัจจุบัน ระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดของผู้ประกอบการดังกล่าว มีเกษตรกรกว่า 40,000 ราย ร่วมลงทะเบียนเป็นผู้ขายผลผลิต ซึ่งต้องระบุข้อมูลผู้ปลูกและเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ปลูก รวมถึงยังมี “พ่อค้าพืชไร่” อีกกว่า 600 รายที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเกษตรกรเข้ามาลงทะเบียนการซื้อขายผ่านระบบนี้ ซึ่งต้องระบุชื่อเกษตรกรที่รวบรวมมา พร้อมเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ปลูกทั้งหมดเช่นกัน ทั้งหมดนี้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกกว่า 2 ล้านไร่

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการดังกล่าวยังนำแนวทาง “ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ” ไปใช้เป็นมาตรฐานการรับซื้อข้าวโพดที่ประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่ปี 2563 ด้วย ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเท่ากับช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในไทยด้วย

เท่าที่ทราบ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปศึกษาระบบตรวจสอบย้อนกลับดังกล่าวแล้ว และพบว่าสามารถควบคุมการบริหารจัดการปัญหาการเผาพืชเกษตรได้จริง ลดสาเหตุของหมอกควันได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยกำลังพยายามนำระบบดังกล่าวมาขยายผลไปยังผู้ประกอบการรายอื่นๆ รวมถึงทดลองขยายผลไปยังพืชเกษตรอื่นๆด้วย

แม้จะเป็นเรื่องยาก เพราะห่วงโซ่การผลิตของพืชแต่ละชนิดก็ต่างกัน ระบบการรับซื้ออ้อย หรือ ข้าว ก็ต่างกัน แต่อย่างน้อยเมื่อมี Best Practice เกิดขึ้นแล้ว รู้จักหยิบไปขยายผลประยุกต์ใช้ ย่อมนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นสำหรับทุกฝ่าย

ที่สำคัญ!! อย่าลืมหันกลับไปช่วยกันแก้เรื่อง “ไฟป่า” ภัยธรรมชาติที่เป็นสาเหตุหลักตัวจริงของปัญหาหมอกควันด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น