กาฬสินธุ์-“ธรรมนัส” รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในจ.กาฬสินธุ์ และให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม สั่งชลประทานเร่งระบายน้ำที่ยังท่วมขังบางจุด ลงลำน้ำชี รองรับน้ำฝนที่อาจตกลงมาอีก พร้อมกำชับช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตถูกกระแสน้ำพัด
วันนี้ (8 ก.ย.) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยจุดแรกลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยผึ้งติดตามภารกิจช่วยเหลือค้นหาผู้สูญหาย และให้กำลังใจครอบครัวสายหยุด ที่สูญเสียนายภัทรเดช สายหยุด อายุ 20 ปี ชาวบ้านบ้านห้วยฝา ต.นิคมห้วยผึ้ง อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ ที่ถูกกระแสน้ำพัดจมน้ำเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งทีมกู้ภัยค้นพบร่างช่วงเช้าวันนี้
ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส ยังได้จุดธูปเคารพศพผู้เสียชีวิต พร้อมมอบเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต และกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือครอบครัวต่อไป ก่อนจะพบปะกับประชาชน พร้อมมอบถุงยังชีพให้แก่ประชาชนที่ประสบอุทกภัยเขตอำเภอห้วยผึ้ง รวมทั้งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขอ่างเก็บน้ำห้วยผึ้ง เพื่อให้ประชาชนสัญจรผ่านไปมาไม่เกิดอันตรายและรองรับน้ำให้ได้มากที่สุด
จากนั้น ร.อ.ธรรมนัส ได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำท่วมใน อ.กุฉินารายณ์ และไปยังวัดบูรพาเทพนิมิต ต.บัวขาว อ.กุฉินารายณ์ มอบถุงยังชีพบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยรวมกว่า 350 คน ซึ่งเป็นผู้ประสบอุทกภัยจาก 3 อำเภอ ได้แก่อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอเขาวง และอำเภอนาคู
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าจาการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอห้วยผึ้ง, อำเภอกุฉินารายณ์, อำเภอนาคู และอำเภอเขาวง ล่าสุดสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยประชาชน และสั่งการให้ตนลงมาติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด และเร่งช่วยเหลือประชาชน เบื้องต้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสำรวจ และรายงานก่อนประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ และช่วยเหลือต่อไป
ส่วนการแก้ไขน้ำที่ท่วมขัง ได้กำชับให้สำนักชลประทานที่ 6 เร่งจัดเตรียมเครื่องจักร และเครื่องสูบน้ำเพื่อช่วยเหลือระบายน้ำในพื้นที่ประสบอุทกภัย ในจ.กาฬสินธุ์อย่างเร่งด่วนแล้ว และให้เร่งระบายน้ำไปยังลำน้ำชี เพื่อให้สามารถรองรับน้ำที่อาจจะหลากล้นลงมา หากมีฝนตกมาอีก สำหรับสปิงค์เวย์ ให้ออกแบบและสร้างใหม่เพื่อให้ประชาชนที่สัญจรไปมามีความปลอดภัยยิ่งขึ้น
สำหรับ จ.กาฬสินธุ์เกิดอุทกภัยทั้งสิ้น 7 อำเภอ 26 ตำบล 111 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 45 หลังคาเรือน (ปัจจุบันคลี่คลายแล้ว) ถนนได้รับผลกระทบ 156 สาย สำหรับพื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหายประมาณ 5,194 ไร่ บริเวณด้านต้นน้ำ ฝั่งลำน้ำยัง (พื้นที่อำเภอนาคูและอำเภอเขาวง) ปริมาณเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนน้ำด้านล่างบริเวณพื้นที่อำเภอกุฉินารายณ์ปริมาณน้ำมีระดับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นพื้นที่ท้ายน้ำของ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อไหลลงไปยังพื้นที่รับน้ำจ.ร้อยเอ็ด ส่วนถนนสายหลักได้รับผลกระทบ 2 สาย ได้แก่ ถนนหมายเลข 2046 กุฉินารายณ์-โพนทอง และถนนหมายเลข 12 ห้วยผึ้ง-มุกดาหาร