กาฬสินธุ์-พาณิชย์จังหวัดกาฬสินธุ์ เผยการซื้อขายไม้พะยูงในพื้นที่ไม่มีกฎหมายรองรับ ชี้ไม่เคยอนุญาต หากอ้างได้รับอนุญาตซื้อขายไม้เชิงธุรกิจ เข้าข่ายลวงโลก ขณะที่พลเมืองดียังแจ้งเบาะแสตัดไม้พะยูงในโรงเรียนต่อเนื่อง สังคมห่วงคดีและจับตาการทำหน้าที่ ป.ป.ช.-ป.ป.ท. จะเป็นมวยล้มหรือไม่
จากกรณีไม้พะยูงของกลาง 7 หายไปจากสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ การตรวจสอบมีบุคคลของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง 8 ราย และยังมีปัญหาตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ให้นายหน้าเข้ามาตัดไม้พะยูงภายในโรงเรียนถึง 22 ต้น กับอีก 2 ตอ ราคา 153,000 บาท ซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาตลาด 28-56 เท่าตัว เรื่องนี้จังหวัดได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.- ส.ต.ง.-ป.ป.ท. เอาผิดทางวินัย แพ่ง อาญา ล่าสุด ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ตั้งคณะไต่สวนชุดใหญ่ ตรวจสำนวนตำรวจ ขณะที่ชาวบ้านทยอยส่งหลักฐานการประมูลไม้พะยูงขายหลายแห่ง ที่โรงเรียนหนองโนวิทยาคม อ.ห้วยเม็ก และที่โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
ล่าสุดวันนี้ (2 ก.ย.) นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่าจากการพิจารณากฎระเบียบ การตัดไม้แปรรูปไม้ รวมถึงการจำหน่ายซื้อขายไม้หลายฉบับ เทียบเคียงกับกรณีลักลอบตัดไม้พะยูงที่เทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด รวมทั้งกรณีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 และธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ อนุญาตให้ตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา โรงเรียนหนองโนวิทยาคมนั้น พบว่าการตัดไม้เป็นการฝ่าฝืน ละเมิดคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัด และกฎกระทรวงบางฉบับ ว่าด้วยการตัดไม้หวงห้าม เช่น ไม้พะยูง และไม้เศรษฐกิจอื่นๆ ล่าสุดจากการศึกษากฎหมายพาณิชย์ ที่เกี่ยวเนื่องการค้าขายไม้ ยังพบว่ายังไม่อนุญาตให้ซื้อขาย นำเข้าและส่งออกไม้แต่อย่างใด
ด้านนายวีระพงศ์ สืบค้า พาณิชย์จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่าในส่วนของการประกอบธุรกิจโดยทั่วไป เช่น บริษัท ห้างร้าน การประกอบการ ให้บริการ ในเชิงการค้า การพาณิชย์ต่างๆ ทั้งแบบบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล รูปแบบบริษัท ห้างร้าน ผู้ประกอบการจะต้องยื่นจดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ตั้งสถานประกอบการ ซึ่งประเภทหรือลักษณะการประกอบการ ต้องมีความชอบธรรม มีกฎ ข้อห้ามให้ปฏิบัติ เช่นห้ามซื้อขาย ส่งออก สินค้าบางประเภทไม้ ทราย วัตถุโบราณ
สำหรับสินค้าผลผลิตจากภาคเกษตร เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ผลไม้ เสื้อผ้า อาหาร ผู้จดทะเบียนประกอบธุรกิจ สามารถนำเข้า ส่งออกได้ตามวัตถุประสงค์ของการยื่นจดทะเบียน แต่ไม้พะยูง หรือไม้ทุกประเภทนั้น ที่ทราบจากข่าวว่ามีการซื้อขายกันทั่วไปในจ.กาฬสินธุ์นั้น สำนักงานพาณิชย์ จ.กาฬสินธุ์ ไม่เคยอนุญาตให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นผู้ซื้อไม้ หรือผู้ขายไม้ เพราะการซื้อขายไม้พะยูงไม่มีกฎหมายเกี่ยวข้อง
ส่วนที่พบเห็นการตั้งโรงงานแปรรูปไม้ หรือธุรกิจเกี่ยวกับไม้ เป็นในส่วนของกรมป่าไม้ควบคุม แต่หากเป็นการค้าขายไม้ ไม่ว่าจะเป็นไม้พะยูง หรือไม้ประเภทต่างๆในเชิงพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัดไม่เคยให้อนุญาต แต่เท่าที่ทราบ อาจจะมีบ้างในบางจังหวัดชายแดน แต่ต้องไปยื่นขออนุญาตที่กระทรวงพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม จากความเห็นของผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ สอดคล้องกับพาณิชย์จังหวัดกาฬสินธุ์ ประมวลเป็นข้อเท็จจริงได้ว่า การซื้อขายไม้พะยูงใน จ.กาฬสินธุ์นั้น เป็นเรื่องผิดกฎหมาย เหตุการณ์ต่างๆเกี่ยวกับลักลอบตัด ให้อนุญาตตัด รวมถึงซื้อขายไม้ที่ผ่านมา เชื่อว่าใช้ช่องว่างกฎหมาย หากมีการกล่าวอ้างว่าซื้อขายถูกต้องตามกฎหมาย ถือเป็นการหลอกลวงสังคม
ทั้งนี้ชาวบ้านผู้รักความถูกต้อง จึงอยากเรียกร้องถึงรัฐบาล มีมาตรการขั้นเด็ดขาด เอาจริงกับขบวนการค้าไม้ภายในประเทศและนายทุนข้ามชาติ การที่จะซื้อขาย ส่งออก ถูกต้องตามกฎหมายจะต้องมีการจดทะเบียนกับพาณิชย์ ประสานงานของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายปกครอง ป่าไม้ ตำรวจ ท้องถิ่น พาณิชย์ รวมทั้งศุลกากร หรือตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อให้การปฏิบัติ เป็นแนวทางเดียวกัน
ที่ผ่านมาเหมือนต่างฝ่ายต่างถือกฎหมายคนละฉบับ ปัญหาจึงเกิดขึ้นบ่อย สูญเสียทรัพยากรป่าไม้ไปเป็นจำนวนมาก แม้แต่เรื่องคดีไม้พะยูงหายและอนุญาตตัดไม้ในโรงเรียน ที่เกิดขึ้นในจ.กาฬสินธุ์ และยังมีชาวบ้านแจ้งเบาะแสเข้ามาเรื่อยๆ คดีไม่คลี่คลาย จะเป็นมวยล้มหรือเปล่า สังคมกำลังจับตาการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.-ป.ป.ท. และชาวบ้านรอคำตอบอยู่