ลำปาง - “วราวุธ” นำคณะพร้อมพ่อครูทำพิธีฮ้องขวัญ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ที่เพิ่งได้กลับบ้านเกิด หลังถูกส่งเป็นทูตสันถวไมตรีศรีลังกานานถึง 22 ปี กระทั่งได้รับบาดเจ็บ ล่าสุดแผลหายเกือบเป็นปกติแล้ว เตรียมเปิดให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมได้ตั้งแต่พรุ่งนี้ (29 ส.ค.) ด้าน “กัญจนา” จ่อบินดูอาการ “พลายศรีณรงค์-พลายประตูผา” ต่อ
วันนี้ (28 ส.ค. 66) นายวราวุธ ศิลปอาชา รักษาการ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะการทำงานยุทธศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการ จ.ลำปาง พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันประกอบพิธีร้องขวัญ หรือ "ฮ้องขวัญ" ตามประเพณีล้านนาภาคเหนือให้แก่พลายศักดิ์สุรินทร์ อายุ 30 ปี ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
หลังถูกส่งไปเป็นช้างทูตสันถวไมตรีที่ศรีลังกามานานกว่า 22 ปี ก่อนนำกลับมารักษาอาการบาดเจ็บที่ประเทศไทย โดยทางสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จ.ลำปาง ได้ทำการรักษาแผลที่สะโพกข้างซ้ายและขวาหายเกือบเป็นปกติ ส่วนขาหน้าและต้อกระจกอยู่ระหว่างรักษา และล่าสุดได้ย้ายจากสถานที่กักโรคไปยังศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยดังกล่าวได้แล้ว
สำหรับพิธีฮ้องขวัญ “พลายศักดิ์สุรินทร์” มีการเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมพิธีด้วย โดยอาจารย์ในพิธีได้กล่าวคำฮ้องขวัญตามประเพณี ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงพลายศักดิ์สุรินทร์ที่จากภูมิลำเนาเดิมไปนานและเมื่อกลับมาก็ขอให้ขวัญกลับมาสู่ตัว จากนั้นมีการนำพวงมาลัยดอกไม้คล้องคอพลายศักดิ์สุรินทร์โดยควาญที่ดูแล และมีการให้อาหารซึ่งเป็นพืชผลที่พลายศักดิ์สุรินทร์ชอบกิน เช่น ฟักทอง ข้าวโพด อ้อย ฯลฯ
ซึ่งพบว่าช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ ทูตสันถวไมตรีที่กลับมาบ้านเกิด ได้กินอาหารประเภทอ้อยและข้าวโพดมากเป็นพิเศษ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะจัดให้พลายศักดิ์สุรินทร์ไปยังบริเวณแสดงตัวบริเวณพื้นที่ที่มีรั้วกั้นไกลเพราะช้างมีงายาว ขณะที่เจ้าหน้าที่แจ้งให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวงดส่งเสียงดังและไม่เข้าใกล้ช้างจนมากเกินไป เพราะช้างเพิ่งกลับมาประเทศไทยจึงอยู่ระหว่างการปรับตัว
นายวราวุธกล่าวว่า จะเริ่มเปิดให้คนเข้าชมพลายศักดิ์สุรินทร์ตั้งแต่วันอังคารที่ 29 ส.ค.เป็นต้นไปได้เลย แต่คงไม่ได้เปิดเป็นประจำทุกวัน เพราะพลายศักดิ์สุรินทร์ยังอยู่ระหว่างการรักษาตัวและพักฟื้น หากพบผู้คนมากอาจเกิดความเครียดได้ ซึ่งผู้สนใจอยากเข้าชมสามารถสอบถามทางสถาบันฯ ได้เพื่อทราบกฎกติกาที่กำหนดไว้ต่อไป
ด้าน น.ส.กัญจนากล่าวว่า ในวันที่ 1-4 ก.ย.นี้ตนจะเดินทางไปศรีลังกาเพื่อดูพลายประตูผาและพลายศรีณรงค์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่เมืองแคนดี้ โดยจะมีทีมแพทย์เดินทางไปดูสุขภาพของช้างก่อน เบื้องต้นทราบว่าจะมีการนำพลายศรีณรงค์ไปร่วมงานแห่ที่ประเทศศรีลังกาจัดขึ้น แต่พลายประตูผาไม่ได้ไปเพราะเกิดอาการตกมัน
ทั้งนี้ ตนได้ขอให้แพทย์ได้ตรวจสุขภาพอย่างละเอียดและทำเวิร์กชอปตามกระบวนการ รวมถึงดูแลเรื่องอาหาร โดยเฉพาะช้างที่มีอายุมากตามปกติที่ประเทศไทยเราจะใช้อาหารบดเพราะไม่มีฟันแล้ว แต่ที่ประเทศศรีลังกาอาจไม่ทราบเรื่องนี้ทำให้บางเชือกผอมจนล้มหรือตายลง จึงขอให้แพทย์ได้แจ้งข้อมูลให้ทราบ ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อช้างเชือกอื่นๆ ด้วยไม่เฉพาะเพียงแค่ช้างไทยทั้ง 2 เชือกดังกล่าวเท่านั้น นอกจากนี้ยังขอให้ดูแลเรื่องการผูกเชือก เพราะหลายๆ เชือกรวมถึงพลายศักดิ์สุรินทร์พบมีการมัดขาหลังแน่นมากจนทำให้ล้มลงนอนไม่ได้และมีแผลด้วย ส่วนการทำข้อตกลงหรือเอ็มโอยูกับทางศรีลังกานั้นยังอยู่ระหว่างหารือแบบกว้างๆ กับหน่วยงานต่างๆ อยู่
น.ส.กัญจนากล่าวอีกว่า กระนั้น จะมีการหารือกับมหาวิทยาลัยแคนดี้ที่ดูแลช้างประตูผา และกรมสวนสัตว์ที่ดูแลช้างทั้งหมดในศรีลังกา รวมถึงวัดพระเขี้ยวแก้วและไวยาวัจกรของวัดด้วยว่าต้องการอะไรเพื่อช่วยเหลือดูแลช้างหรือไม่ โดยจะใช้สมบัติที่บิดาของตน (บรรหาร ศิลปอาชา) ทิ้งไว้ให้ดำเนินการ เพราะถ้ารองบประมาณของรัฐบาลก็ยังไม่ทราบว่าปี 2567 จะได้รับหรือไม่
กรณีพิธีแห่ที่พลายศรีณรงค์เข้าร่วมจะขอให้ทางแพทย์ดูแลด้วย เพราะการนำช้างออกเดินแห่ในลักษณะดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่หนักหนาสำหรับช้างเช่นกัน ส่วนที่หลายคนบอกให้นำช้างกลับมานั้นต้องเข้าใจว่าวัดที่ดูแลช้างเป็นผู้ถือกรรมสิทธื์อยู่นอกจากจะมีการเจรจาและเขาใจดีปล่อยกลับมา แต่ก็ขึ้นอยู่กับทางวัดดังกล่าวต่อไป
ด้านนายถนอมศักดิ์ เฉียบแหลม รองผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กล่าวว่า เบื้องต้นการเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าเยี่ยมพลายศักดิ์สุรินทร์นั้นจะมีการเปิดให้เป็นช่วงเวลา โดยเช้าทางแพทย์จะเข้าไปตรวจสุขภาพของช้างก่อน จากนั้นในช่วงบ่ายจะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลาประมาณ 14.00-16.00 น.