ตราด - ประธานหอการค้าตราด จี้รัฐบาลใหม่เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจรากหญ้า หนุนท่องเที่ยวไฮซีซัน ดันนักท่องเที่ยวเข้า 4 จังหวัดตะวันออกเที่ยวเมืองรองกระจายรายได้ ด้านสมาชิกสภาเกษตรวอนรัฐสร้างองค์ความรู้ป้อนเกษตรเข็มแข็ง สร้างต้นทุนน้ำให้เพียงพอคู่พักชำระหนี้
จากผลกระทบที่เกิดจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลในช่วงหลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา ที่ทำให้เศรษฐกิจในระดับรากหญ้าได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่นเดียวกับอีกหลายภาคธุรกิจจนทำให้ภาพทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของไทยย่ำแย่หนัก
และในวันนี้เมื่อพรรคเพื่อไทย ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจนเกือบจะเรียบร้อยแบบ 100% โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี 3 นโยบายหลักที่เคยใช้หาเสียง
ทั้งการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าด้วยการปัอนเงินในระบบดิจิทัล จำนวน 1 หมื่นบาท เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนการค้าในระดับชุมชน เร่งแก้ไขปัญหาต้นทุนแหล่งน้ำให้ภาคเกษตรกรรม และเร่งวางแผนทางการตลาดเพื่อกระจายผลผลิต โดยเฉพาะทุเรียนที่มีมูลค่าการส่งออกจำนวนหลายแสนล้านบาทต่อปีนั้น
วันนี้ (27 ส.ค.) นางวิภา สุเนตร ประธานหอการค้าจังหวัดตราด ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ออกสนับสนุนนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดีแม้อาจมีปัญหาเรื่องการใช้อยู่บ้างนั้น ล่านสุด ยังออกมาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ในการให้ความสำคัญด้านการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้หลักเข้าประเทศ
และยังบอกอีกว่า จ.ตราด มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาพักผ่อนมากถึงปีละกว่า 1 ล้านคน และในอีก 2 เดือนข้างหน้าจะเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน ดังนั้นจึงต้องเร่งมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับคืนมาสู่พื้นที่ 4 จังหวัดภาคตะวันออกให้ได้โดยเร็ว
และจะต้องไม่กระจุกตัวอยู่ในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง แต่ควรจะกระจายนักท่องเที่ยวมาจังหวัดรองให้ได้ด้วย
"ประการสำคัญคือจะทำอย่างไรจะให้ได้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวได้หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มา รวมทั้งเรื่องการค้าชายแดนเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากผู้บริหารรัฐบาลทั้งของไทยและกัมพูชามีการเปลี่ยนแปลงใหม่ แต่เชื่อว่าทั้ง 2 รัฐบาลจะมีสายสัมพันธ์ที่ดีกว่าเก่า และน่าจะทำให้การค้าขายที่ดีกลับคืนมา" ประธานหอการค้า จ.ตราด กล่าว
เช่นเดียวกับ นายบัณฑิต กูลพฤกษี สมาชิกสภาเกษตรกร จ.ตราด และปราชญ์ชาวบ้าน บอกว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรกรรมด้วยการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรนับเป็นเรื่องที่ดีและควรจะดำเนินการให้เป็นเรื่องหลัก เนื่องจากวันนี้รายได้ของเกษตรกรยังต่ำอยู่ แต่ต้นทุนการผลิตกลับสูงขึ้นต่อเนื่องจนทำให้เกษตรกรมีหนี้สิน
เบื้องต้น อยากให้มีการสนับสนุนให้เกิดองค์ความรู้ในเรื่ององค์ประกอบสำคัญของการทำเกษตรกรรม คือ น้ำ ป่า คน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ได้สั่งสอนมา ขณะเดียวกัน เรื่องปัญหาหนี้สินของภาคเกษตรเป็นปัญหาใหญ่ที่หากรัฐบาลแก้ไขได้ย่อมเป็นเรื่องที่ดี
"เพราะปัจจุบันยากที่เกษตรกรจะนำเงินมาชำระหนี้ให้ ธกส.ได้ เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ ขาดความรู้ อย่างไรก็ตาม การพักหนี้นับเป็นเรื่องที่ดี เพื่อให้เกษตรกรได้ตั้งหลักมและเมื่อมีความรู้ และสร้างผลผลิตได้มากขึ้นสามารถนำเงินรายได้มาใช้หนี้ได้" ปราชญ์ชาวบ้าน กล่าว